สมาคมประกันวินาศภัยฯ รับครึ่งปีหลังท้าทาย คาดเบี้ยโต 1.5-2.5%
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยธุรกิจครึ่งปีหลังปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า คาดเบี้ยรับโดยตรงทั้งปี’68 ขยายตัว 1.5-2.5% หรือ 2.91-2.94 แสนล้านบาท หลังตัวเลข Q1/68 โตฝ่าความผันผวนได้ 3.81% ชี้ประกันภัยเรือร่วงรับนโยบายการค้าสหรัฐ จับตาสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้ากดประกันภัยรถยนต์ชะลอ ระบุความคืบหน้า สตง. รอข้อมูล-ผู้เชี่ยวชาญสำรวจความเสียหาย ระบุจ่ายเคลมความเสียหายเหตุแผ่นดินไหวแล้ว 1.5 แสนกรมธรรม์ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2568 ยังคงมีความท้าทายของเศรษฐกิจ และเห็นการปรับตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ทั้งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทประกันภัยมีการปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สมาคมคาดอัตราการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจะอยู่ในกรอบ 1.5-2.5% หรือมีเบี้ยรับโดยตรงทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.91-2.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่อยู่ 0.6% มีเบี้ยรับโดยตรงอยู่ที่ 2.86 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในไตรมาสที่ 1/2568 จะพบว่ามีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ที่ 7.52 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.81% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) โดยแบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 4.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.36% ประกันอัคคีภัย 2,509 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.83% ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลอยู่ที่ 1,668 ล้านบาท หดตัว -4.91% และประกันภัยเบ็ดเตล็ด 2.90 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 8.01% โดยสัดส่วนประกันภัยรถยนต์ (Motor) อยู่ที่ 55.8% และสัดส่วนประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Nonmotor) อยู่ที่ 44.2%
โดยสัญญาณในไตรมาสที่ 1/68 เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะประกันอัคคีภัย และประกันเบ็ดเตล็ดที่มีการเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากตลาดให้ความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์แผ่นดินไหว
ขณะที่ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลที่มีอัตราติดลบ เป็นผลมาจากความเสี่ยงจากการค้าและนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ (Reciprocal Tariffs) ส่วนประกันภัยรถยนต์แนวโน้มที่ทั้งปีจะไม่เติบโต เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการที่มีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าบางรายในจีนยื่นล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และมียอดสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าชะลอลง จึงกระทบต่อยอดประกันรถยนต์โดยภาพรวม
“ทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัยในครึ่งปีหลัง คาดจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงเข้ามามาก และมีแนวโน้มขยายตัวได้น้อยกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตได้ 3.81% เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบค่อนข้างมากทั้งภายในและภายนอก”
ดร.สมพรกล่าวเพิ่มเติม สำหรับประเด็นอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่มในเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น มีผู้รับประกันความเสี่ยงภัยทั้งหมด 4 บริษัทประกันวินาศภัย โดยผลรวมทุนประกันทั้งหมด (Total Sum Insured) มีมูลค่าราวกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ลูกค้าทำ Deductible หรือค่าเสียหายส่วนแรกไว้ประมาณ 20% และมีการจ่ายค่างวดมาแล้วประมาณ 900 ล้านบาท อย่างไรก็ดี กรมธรรม์ตึก สตง.ได้มีการส่งประกันภัยต่อประมาณ 95% ดังนั้น เบื้องต้นประเมินความเสียหายจริงน่าจะไม่เกิน 1,000 ล้านบาท
ซึ่งภายหลังได้รับหนังสือร้องเรียกค่าสินไหมจาก สตง.แล้ว ปัจจุบันได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจความเสียหาย ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ดำเนินการเก็บข้อมูลและนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ในกรมธรรม์มีข้อกำหนดสำคัญ หากการถล่มมาจากการออกแบบผิดพลาดไม่ได้มาตรฐานจะไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงต้องรอผลตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
ขณะเดียวกัน กรมธรรมก่อสร้างจะมี 3 ส่วนคือ ตัวอาคาร บุคคลภายนอก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกรมธรรม์ของ สตง.ได้ทำไว้ 2 ส่วนคือ ตัวอาคาร และบุคคลภายนอก ดังนั้น กรณีที่อาคารถล่มและไปโดนอาคารรอบข้างหรือบุคคลอื่นจะได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีความเสียหายทั้ง 2 ส่วนนี้
“ตอนนี้ภาครัฐกำลังรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หากถล่มจากการออกแบบที่ไม่ได้มาตรฐานกรมธรรม์จะไม่คุ้มครอง แต่หากถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะมีความคุ้มครอง แต่สุดท้ายจะต้องรอเอกสารจากผู้เอากรมธรรม์ ทั้งนี้ จากผลกระทบเรื่องนี้ มองว่าอาคารสูง อาคารภาครัฐคงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเบี้ย แต่ประกันภัยต่อต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่านั้น”
ขณะที่ความคืบหน้าการจ่ายค่าสินไหมจากเหตุแผ่นดินไหว ปัจจุบันบริษัทประกันที่เป็นสมาชิกสมาคมประกันวินาศภัยฯ ได้เร่งจ่ายเคลมไปแล้ว 1.5 แสนกรมธรรม์ คิดเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้แจ้งความเสียหายเพิ่มเติมอีก โดยคาดว่าความเสียหายโดยรวมจะไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สมาคมประกันวินาศภัยฯ รับครึ่งปีหลังท้าทาย คาดเบี้ยโต 1.5-2.5%
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net