แนวโน้มอุตสาหกรรมในประเทศไทย
แนวโน้มอุตสาหกรรมในประเทศไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและการลงทุนจากประเทศต่างๆ ด้วยปัจจัยหลายประการที่ดึงดูดผู้ประกอบการให้ย้ายฐานการผลิตหรือขยายการลงทุนมายังประเทศไทย โดยข้อมูลจาก UNCTAD รายงานว่าในปี พ.ศ. 2567 ทวีปเอเซียมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment - FDI) มากกว่า 6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มูลค่า FDI เพิ่มขึ้นถึง 10% อยู่ที่มากกว่า 2 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยดูน่าสนใจสำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีดังต่อไปนี้
1. สงครามการค้าและนโยบายกีดกันทางการค้า
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ผู้ประกอบการจากประเทศจีนจำนวนมากต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในจีนเสียเปรียบในการแข่งขัน การย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในทางออกเพราะประเทศไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ รวมถึง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งช่วยลดภาษีและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มสมาชิก
2. ทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และการเข้าถึงตลาดอาเซียน
ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้เป็น ศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้า ที่สำคัญ การลงทุนในไทยช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการขยายสู่ตลาดผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคและหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน
3. นโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้ออำนวยและเสนอ สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สิทธิประโยชน์เหล่านี้รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดหย่อนภาษี การอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
4. โครงสร้างพื้นฐานละห่วงโซ่อุปทาน
ประเทศไทยมี โครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาตลอดเวลา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เครือข่ายการขนส่งที่เชื่อมโยงกัน และระบบสาธารณูปโภคที่รองรับอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ไทยยังมี ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว
ภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศไทยใน ปี พ.ศ 2568 มีแนวโน้มทรงตัว แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวในปี พ.ศ 2568 เมื่อเทียบกับในปี พ.ศ 2567 มีดังต่อไปนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวมากกว่า 10% ได้แก่ ต่อเรือซ่อมเรือ น้ำตาล สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อากาศยาน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว 6-10% ได้แก่ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว 1-5% ได้แก่ ยาง โรงเลื่อยและโรงอบไม้ รองเท้า ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ปูนซีเมนต์
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว (ไม่ระบุ %) ได้แก่ ยา หัตถกรรมสร้างสรรค์ แก้วและกระจก ก๊าซ เทคโนโลยีชีวภาพ
แม้ว่าหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายในการแข่งขันและจากปัจจัยอื่นๆ แต่ก็เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ ปรับตัว และพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และรับมือผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เช่น มาตรการทางสิ่งแวดล้อม และ มาตรการทางการค้า เป็นต้น
ที่มา https://unctad.org