‘ภาษีทรัมป์’ พ่นพิษ ธุรกิจ กระอัก นิคมอุตสาหกรรม อ่วม หลังสหรัฐฯยืนยันเรียกเก็บไทย 36% เริ่ม 1 ส.ค.นี้
นอกจากความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ศึกสงครามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รอวันปะทุ แล้ว ยังมีความสั่นคลอนจากสถานการณ์โลกเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา โพสต์จดหมายเปิดผนึกวันที่ 7 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรีประเทศไทย
โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับข้อตกลงเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ระบุว่า แม้สหรัฐจะขาดดุลการค้ากับไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะยังดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยต่อไป ในจดหมายยืนยันว่า “ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าที่เกิดจากอัตราภาษี ยืนยันเรียกเก็บภาษีด้วยอัตรา 36% ตามเดิม สำหรับสินค้าทุกขนิดที่มีการนำเข้าจากประเทศไทยมายังสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ชี้ อัตรา 36% ยังถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ “
ข้อความดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนต่อภาคผลิตส่งออกของไทย ที่มองว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกประตู จากคู่แข่งทางการค้าอย่าง เวียดนาม ที่น่าจับตา นักลงทุน ต่างชาติโดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น อาจ ย้ายฐานการผลิตเพราะประเทศเหล่านั้นภาษีทรัมป์ยังต่ำกว่าไทย ทุบซ้ำ ความเปราะบางของรัฐบาลแพทองธาร1/2
ที่มองว่าจะสามารถประคองรัฐนาวานี้ได้เกิน3เดือนนับจากนี้หรือไม่ หลังหลายปัญหารุมเร้า คณะเจรจาภาษีทรัมป์ คว้าน้ำเหลวและแม้ว่าล่าสุดจะส่งจดหมายอีกรอบโดยใช้โมเดลภาษี 0% เสนอสหรัฐเหมือนเวียดนาม เพื่อปรับการค้าระหว่างกันเข้าสู่สมดุล ก็ตาม
อย่างไรก็ตามผลที่ตามมาในครึ่งปีหลังนี้จะกระทบตัวเลขการผลิต-ส่งออกอย่างไม่ต้องสงสัยขณะเดียวกันยังมีเวลาอีกไม่เกิน1เดือนที่จะใช้ช่องทางนี้รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอีกรอบหรือเร่งส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯให้ได้มากที่สุด ขณะผลกระทบทางอ้อมที่เป็นลูกโซ่ตามมา การคาดหวังนักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จะลดลงเพราะมีผลทั้งตลาดทุนและการค้าการส่งออกได้รับผลกระทบ
นายพรนริศ ชวยไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่ากรณีกำแพงภาษีสหรัฐฯที่ยืนเก็บการนำเข้าสินค้าในอัตราที่ 36% มองว่า ประเทศจะได้รับผลกระทบสูง โดยเฉพาะภาคส่งออก เครื่องยนต์หลักของไทยที่ต้องแบกรับภาษีซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่พุ่งสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าอย่างประเทศเวียดนาม และประเทศอื่นๆที่ส่งสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ต้นทุนต่างกัน
ที่น่าจับตา เมื่อกำแพงภาษีสหรัฐฯ 36% ยังมีผลกระทบถึงการย้านฐานการผลิตของต่างชาติ อย่างจีน ที่ปัจจุบันเข้ามาซื้อที่ดินไทยจำนวนมาก รวมถึงในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี อาจจะต้องทิ้งฐานการผลิต เพราะไทยมีต้นทุนที่สูงกว่า และมองว่าธุรกิจที่เปิดนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่มักดึงนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีนเข้าพื้นที่
“ไทยเป็นประเทศเปิดกว้างให้จีนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะจีนเทา สะท้อนจากโรงงานผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานรวมถึงสินค้าราคาถูก ที่สวมเสื้อไทยออกขายในสหรัฐฯ ยังไม่รวมสถานการณ์ต่างๆในไทย ดังนั้นจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีในครั้งนี้”