จุดจบคดีชั้น 14-ร้องเอาผิด 144 มาตรา 5 ผ่าทางตัน? ‘วัส’ อดีตตุลาการฯ ชี้ป่วยทิพย์
ผู้ต้องขังรายนี้ป่วยจริง ก็ต้องผ่านกระบวนการรักษาที่รพ.ราชทัณฑ์ แต่ว่าตามข้อเท็จจริงคือเลยไปเลย ผ่านไปเลย มุ่งไปที่ รพ.ตำรวจ อันนี้เป็นเรื่องที่ฉกาจฉกรรจ์ ประเด็นนี้ ทางผู้พิพากษาในการไต่สวนนัดแรกก็ถามแล้วถามอีก…เป็นข้อพิรุธอย่างชัดเจนมากว่า ไม่ได้ป่วยจริงถึงขั้นรักษาพยาบาล ป่วยวิกฤตไม่ใช่
วัส ติงสมิตร
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ในเดือน ก.ค.พบว่ามีคดีความของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีการเปิดห้องพิจารณาและไต่สวนคดีถึงสองศาล ซึ่งจะจบภายในเดือนนี้
คดีแรกคือ "คดีมาตรา 112" ที่ทักษิณถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ที่มีการสืบพยานโจทก์ไป 3 วันรวดในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ 1-2-3 ก.ค. และจะมีการสืบพยานฝ่ายจำเลยต่อในวันที่ 16, 22 และ 23 ก.ค. หลังจากนั้นจะมีการจัดทำคำพิพากษาของศาลต่อไป ที่คาดว่าอาจจะนัดอ่านคำตัดสินปลายปีนี้หรือต้นปี 2569
และอีกหนึ่งคดีคือ คดีในชั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไต่สวนปมป่วยทิพย์ชั้น 14 ของทักษิณ ซึ่งล่าสุดมีการไต่สวนนัดที่สอง ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีคิวไต่สวนต่อในวันที่ 8, 15, 18, 25 และ 30 ก.ค. โดยบางฝ่ายคาดการณ์กันว่า ศาลฎีกาฯ อาจจะนัดฟังคำสั่งในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ปีนี้
รายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" เจาะลึกประเด็นการไต่สวนคดีป่วยทิพย์ชั้น 14 รวมถึงกรณีมีการร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เอาผิดกรณี ครม.และสมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันฝ่าฝืนและทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 เรื่องเกี่ยวกับการโยกงบประมาณ โดยสัมภาษณ์ "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ซึ่งเกาะติดเรื่องชั้น 14 มาตลอดร่วมสองปี" และ "วัส ติงสมิตร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และอดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม."
โดยเมื่อเริ่มการสัมภาษณ์ ได้มีการสอบถามเพื่อขอให้ "นพ.วรงค์" ขยายความกรณีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการไต่สวนคดีชั้น 14 ของศาลฎีกาฯ ที่ระบุว่า
"ผมตั้งใจจะไปฟังการไต่สวนคดีชั้น 14 ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.นี้ที่ศาลฎีกา ผมคิดพอสมควร ที่อยากขอบคุณและให้กำลังใจองค์คณะ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ท่านได้ตั้งองค์คณะไต่สวนขึ้นมา เพราะข่าวที่ได้รับ ยิ่งสร้างความศรัทธาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ทุกท่านคือที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่สามารถให้ใครมาแทรกแซงได้ ผมได้ข่าวมาว่า กว่าจะเกิดการประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และนำไปสู่การไต่สวนคดีที่คุณชาญชัยร้อง ได้มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่จะทำให้มีการตีตกคำร้องของคุณชาญชัย เพราะมีความพยายามแทรกแซง
มีข่าวที่ผมได้รับคือ มีความพยายามในการแทรกแซงการแสดงความคิดเห็นของที่ประชุมแผนกของกระบวนการยุติธรรม กรณีควรจะรับคำร้องหรือไม่ โดยใช้คนไม่กี่คนคือ คุณมอ คุณจอ และคุณจอ (มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง) โดยใช้เหตุผลว่า เป็นเรื่องการเมืองไม่ควรยุ่ง ตามข่าวยืนยันว่ามีเทปบันทึกเสียงด้วยครับ (จริงหรือไม่ยังสงสัยอยู่)
สุดท้ายก็มีผู้พิพากษาคณะหนึ่งทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะคุณมอ จึงมีการร้องเรียนกันเกิดขึ้น พวกเราคนไทยต้องขอขอบคุณผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม ที่ทุกท่านยังเป็นที่พึ่งให้กับชาติบ้านเมือง"
ซึ่งประเด็นดังกล่าว "นพ.วรงค์" กล่าวลงรายละเอียดว่า มีเอกสารชิ้นหนึ่งส่งมาให้ผม โดยบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยที่พยายามจะเข้าไปแทรกแซงการไต่สวนคดีชั้น 14 แต่ต้องขอชื่นชมที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ที่สุดท้ายมีมติให้ทำการไต่สวนคดีชั้น 14 ซึ่งเวลาเกิดเรื่องขึ้นมา ผมเชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมเขาต้องการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรี และพิทักษ์ความยุติธรรมให้กับประเทศชาติ ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มที่เราก็พอทราบชื่อ แต่เราต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นคนในที่่ส่งเอกสารมาให้เราช่วยเผยแพร่ ช่วยท้วงติงว่าพวกคุณต้องระมัดระวัง อย่าทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของกระบวนการยุติธรรม
วัส-ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กรณีที่ว่ามาดังกล่าว การไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีด้วยกัน 5 คน หลังมีการร้องเรียนว่าการบังคับโทษตามหมายจำคุกหลังคดีถึงที่สุดไม่ถูกต้อง ซึ่งแต่เดิมผู้ร้อง (ชาญชัย อิสระเสนารักษ์) ไปร้องศาลฎีกาฯ สองครั้ง แต่ศาลฎีกาฯ ไม่รับทั้งสองครั้ง และครั้งที่สามที่ไปร้องก็ยังคงไม่รับคำร้องอยู่ แต่ศาลฎีกาฯ เห็นว่าเมื่อความปรากฏต่อศาลแล้ว ศาลก็จะทำหน้าที่ไต่สวนเอง เพราะเป็นการบังคับโทษจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ที่เป็นอำนาจของศาลฎีกาฯ
โดยในอดีตศาลฎีกาฯ เคยมีการใช้อำนาจนี้มาแล้ว โดยเฉพาะอดีตนักการเมืองบางคนที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยได้รับหมายใบบริสุทธิ์สองครั้ง เบื้องต้นเป็นอำนาจพื้นฐานของศาลอยู่แล้ว หลายคนก็จะมองว่าเป็นเรื่องการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ผมได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ก็ค่อนข้างเป็นห่วงต่อความเข้าใจของประชาชน เป็นเรื่องตามมาตรา 246 จริงหรือ
ในข่าวที่ศาลฎีกาฯ เผยแพร่ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาศาลและที่ปรากฏเป็นคำสั่งของศาลด้วย ศาลไม่เคยอ้างถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เลย ซึ่งประเด็นนี้อีกสักพักเมื่อศาลฎีกาฯ ไต่สวนเสร็จ เราคงรู้ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร จะใช้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ซึ่งผมมีความเห็นส่วนตัวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55
(มาตรา 55 ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ให้ผู้บัญชาการเรือนจําดําเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว
หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบําบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจําจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบําบัดรักษาสําหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาลหรือสถานบําบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจําต่อไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจํา ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอํานาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจําตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องขังไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา) ที่ไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 แต่ไม่เป็นไรความเห็นอาจแตกต่างกันได้
อย่างคนที่เคยออกมาให้ความเห็นที่ต้องขออ้างชื่อถึง เช่น อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ก็เคยให้ความเห็นตอนต้นว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 แต่ตอนหลังก็บอกว่าการใช้มาตรา 246 มีปัญหาแน่นอน ซึ่งเท่าที่อ่านความเห็นของอาจารย์แก้วสรร ก็บอกว่าน่าจะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 แล้ว แต่ไม่ต้องห่วง จะเป็นมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ หรือจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 อาจจะมีผลแตกต่างกันเพราะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน แต่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 ไม่ต้อง
“อย่างไรก็ตามกรณีนี้แม้จะใช้มาตรา 55 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ความเห็นส่วนตัวของผมเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องป่วยทิพย์”
ส่วนการไต่สวนของศาลฎีกาฯ จะได้ความว่ามีการบังคับโทษจำคุกตามหมายของศาลกี่วัน เราต้องพูดเป็นวันไม่ได้พูดเป็นปี วันแรกวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นับจำนวนชั่วโมงก็ประมาณครึ่งวัน ตามกฎหมายครึ่งวันเราก็คำนวณให้เป็นหนึ่งวัน เพราะฉะนั้นถ้าวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีการคุมขัง อยู่ในการอารักขาของราชทัณฑ์ถูกต้อง ตัวจริงอยู่ในคุกแล้วตามหลักเกณฑ์ ซึ่งบางคนที่เคยเป็นอดีตชาวคุกเก่า ก็ออกมาอธิบายให้เห็นภาพชัดเพราะมีประสบการณ์ตรง ก็คำนวณให้เป็นหนึ่งวันได้
นพ.วรงค์-ผมก็เห็นด้วยว่าเป็นตามมาตรา 55 ซึ่งในวรรคสอง ตรงประโยคที่ว่า "หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบําบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจําจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบําบัดรักษา"
…ภาษาดังกล่าวเป็นภาษากึ่งแพทย์ สาธารณสุข ตรงคำว่า "บำบัดรักษา" อันนี้สำคัญ เพราะปกติโรคทั่วไปเราจะใช้คำว่ารักษา ถ้าเป็น "บำบัด" เราจะใช้กับโรคเฉพาะในทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น โรคจิต ยาเสพติด โรคติดต่อ ใช้บำบัด เช่น บำบัดโรคเรื้อน ก็จะใช้คำเต็มว่าศูนย์บำบัดรักษาโรคเรื้อน คำคำนี้จึงเป็นคำเฉพาะที่โฟกัสว่ามาตรา 55 ควรใช้กับปัญหาเรื่องสุขภาพจิต หรือโรคติดต่อ ไม่ได้ใช้กับโรคทั่วไป
-คือนายทักษิณไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต หรือโรคติดต่อเลย?
นพ.วรงค์-ใช่ อันนี้สำคัญ ภาษาตรงนี้ แต่เขามาอาศัยมาตรานี้ เพราะภาษามันชัดเจนว่า ผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบําบัดรักษาเฉพาะด้าน คือใช้คำว่าบำบัด เพราะปกติแล้ว หากเป็นการเจ็บป่วยทั่วไปเราจะใช้คำว่ารักษา
คำว่ารักษา เวลาพวกเรามีอาการเจ็บไข้ ป่วย เราจะต้องทำให้อาการป่วยหายหรืออาการดีขึ้น ทั้งการใช้ยาหรือการผ่าตัด หรือการทำหัตถการ อันนี้คือการรักษา แต่ถ้าบำบัดมันจะกว้างกว่า เพราะจะต้องฟื้นฟูจิตใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จึงใช้คำว่าบำบัด มาตรา 55 วรรคสองที่เขา (ทีมทนายความ-ฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย) พยายามอ้างอยู่เรื่อยๆ ก็มีนักสาธารณสุขคนหนึ่งมาคุยกับผมว่า คำว่าบำบัดต้องใช้กับโรคจิตกับโรคติดต่อ
-ถ้าดูตามมาตรา 55 ก็คือนายทักษิณไม่เข้าข่ายมาตรานี้ใช่หรือไม่?
วัส-เรื่องนี้ผมก็อาจมีความเห็นต่าง เพราะว่าคือเรื่องศัพท์เทคนิคการรักษาคงมีความเข้าใจสู้ นพ.วรงค์ไม่ได้ แต่ว่าในลักษณะของการเขียนกฎหมายเรื่องนี้ เราต้องย้อนหลังกลับไปดูในกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเดิม พ.ศ. 2479 กระบวนการนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันก็คือว่า หากผู้ต้องขังมีการเจ็บป่วยจริง ที่ต้องรักษาพยาบาลและมีลักษณะฉุกเฉิน ก็ต้องรีบไปโรงพยาบาลไม่เช่นนั้นอาจถึงแก่ความตายได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ต้องขังหรืออดีตชาวคุกเก่าก็บอกว่า ก็เห็นผู้ต้องขังบางคนที่อยู่ตรงกันข้ามพะงาบๆ จะตายอยู่แล้ว แต่ผู้คุมก็ยังบอกว่าอย่าเพิ่งตาย รอให้สว่างก่อน อันนี้พูดอาจจะเป็นลักษณะขำขันแต่เป็นเรื่องความจริง ที่ผู้นั้นเล่าประสบการณ์ตรงของเขา แต่ในข้อกฎหมายก็คือว่าหากมีการเจ็บป่วย ในกรณีเหล่านี้แน่นอนว่ามันไม่น่าจะใช่ปัญหาเรื่องจิตแล้ว เพราะว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นกะทันหัน
สมมุติว่าเป็นเรื่องทางกายจริงๆ ก็ต้องนำตัวออกมารักษา เพราะว่าในเรือนจำไม่ได้มีหมอในลักษณะนี้ อย่างมากก็จะมีพยาบาลบางส่วนที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ แต่ถึงขั้นรักษาพยาบาลโรคหนักๆ แบบนี้ไม่ได้ จึงต้องอาศัยหมอในการรักษา ปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ อาจเห็นภาพได้แตกต่างกัน ในกรุงเทพฯ ทาง รพ.ราชทัณฑ์ก็อยู่ติดกันกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แค่มีรั้วกันก็สามารถเดินทางมา
สมมุติว่าในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ผู้ต้องขังรายนี้ป่วยจริง ก็ต้องผ่านกระบวนการรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ แต่ว่าตามข้อเท็จจริงคือเลยไปเลย ผ่านไปเลย มุ่งไปที่ รพ.ตำรวจ อันนี้เป็นเรื่องที่ฉกาจฉกรรจ์ ประเด็นนี้ทางผู้พิพากษา (องค์คณะ) ในการไต่สวนนัดแรกก็ถามแล้วถามอีก (ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร)
-ตรงนี้ก็เป็นปมความผิดใช่ไหมรวมความแล้ว?
วัส-ใช่ครับ เป็นข้อพิรุธอย่างชัดเจนมากว่าไม่ได้ป่วยจริงถึงขั้นรักษาพยาบาล ป่วยวิกฤตไม่ใช่ เพราะขั้นวิกฤตมันไม่ใช่ถ้อยคำในกฎหมาย
-เรื่องนี้สุดท้ายแล้ว องค์คณะของศาลฎีกาฯ ก็จะถาม เช่นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักโทษ เรื่องการบังคับคดี มองแนวโน้มคิดว่าจะเป็นอย่างไร?
วัส-ผมเห็นว่าในมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่เป็นกฎหมายปัจจุบัน แม้กระทั่งวรรคสอง ไม่ใช่เฉพาะการรักษาโรคจิตหรือโรคติดต่อเท่านั้น แต่มีโรคทั่วไปด้วย ดูในถ้อยคำที่ว่า "บําบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจําจะไม่ทุเลาดีขึ้น"
ซึ่งคำว่าไม่ทุเลาดีขึ้นอยู่ในถ้อยคำเก่า ซึ่งผมอ่าน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับปัจจุบัน คำว่าไม่ทุเลาดีขึ้นเป็นการล้อถ้อยคำมาจากกฎหมายเก่า ซึ่งในกฎหมายเก่าคงไม่มีใครเถียงว่าป่วยกายก็ออกไปรักษาได้ แต่พอเป็นกฎหมายใหม่ ก็มีปัญหาอย่างที่หมอวรงค์บอกในเรื่องบำบัดรักษา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ป่วยทางกายก็สามารถไปรักษาได้ หากป่วยจริงและจำเป็นต้องออกไปรักษา แต่ป่วยลักษณะเป็นโรคความดัน แล้วออกซิเจนต่ำไป ถึงขนาดว่าเวลา 23.59 นาที ตามข้อมูลของราชทัณฑ์แล้วไปถึง รพ.ตำรวจ 00.20 น. ที่เข้าสู่วันใหม่
สรุปว่าป่วยกายก็เข้ามาตรา 55 วรรคสอง แต่ถึงแม้เป็นป่วยกายเข้ามาตรา 55 วรรคสอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฝ่าด่านของมาตรา 55 วรรคสองไปได้ ผมเห็นว่าฝ่าด่านไม่ได้ และเป็นการป่วยทิพย์ ที่ไม่ถึงขนาดต้องออกไปรักษาในยามวิกาล
นพ.วรงค์-เรื่องชั้น 14 ผมมองว่า การเจ็บป่วยของนักโทษ ผู้ต้องขังตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มีอยู่สามมาตราคือ 54, 55 และ 56 แต่เรามาพูดเรื่องมาตรา 55 อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมาตรา 54 บัญญัติถึงป่วยทั่วไป ซึ่งระบุชัดเจนว่าให้เรือนจำทุกแห่งจัดให้มีสถานพยาบาล มีแพทย์ พยาบาล ให้เจอแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าพนักงานที่ผ่านการอบรม มาตรา 54 จึงหมายถึงคนป่วยทั่วไป และเมื่อผมดูมาตรา 55 ที่ผมอาจเห็นต่างกับท่านวัส คือมาตรา 55 โฟกัสมาหมายถึง คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคติดต่อ เพราะเป็นภาษาทางการแพทย์ที่ไปบำบัดรักษา
คำว่ารักษากับบำบัดแตกต่างกัน และผมไปอ่านดูกฎกระทรวง (ยุติธรรม) ปรากฏว่ากฎกระทรวง เรื่องการส่งผู้ต้องขังไปรักษาภายนอก เขามีเจตนาที่ต้องการสื่อว่าคนป่วยไม่ใช่ป่วยสองโรคนี้ แต่ต้องการสื่อว่าเป็นคนป่วยทั่วไปด้วย เขามีเจตนาในการเขียนแบบนั้น เพราะภาษาที่เขาใช้ทำให้กฎกระทรวงมันขัดแย้งกันกับกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 เพราะเขาเขียนว่า ในกรณีที่ผู้ต้องหาป่วย มีสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ให้ ผบ.เรือนจำ ดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว อันนี้ใน พ.ร.บ.เขียน ให้ได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว
แต่พอไปเขียนในกฎกระทรวงบอกว่า ให้ส่งไปสถานรักษาพยาบาลในเรือนจำ มันคนละเรื่องกัน เพราะถ้าตรวจจากแพทย์โดยเร็ว แสดงว่ามันต้องเป็นโรคสำคัญ แต่ถ้าส่งไปในสถานรักษาพยาบาล อาจจะให้เจอแพทย์หรือพยาบาล หรือเจอเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรม มันจึงทำให้กฎกระทรวงขัดแย้งกับมาตรา 55
ผมถึงย้ำว่าในวรรคสองของมาตรา 55 ที่ใช้คำว่าบำบัดรักษา ผมจึงเชื่อว่าในมาตรา 55 ใช้กับสองโรคคือโรคจิตกับโรคติดต่อ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าเราบอกว่าใช้กับโรคอื่นก็ได้ มาตรา 55 จะขัดแย้งกับมาตรา 54 ทันที
-คดีชั้น 14 ศาลฎีกาฯ ไต่สวนตลอดทั้งเดือน ก.ค. แบบนี้สิงหาคมก็น่าจะมีคำสั่ง?
นพ.วรงค์-ก็น่าจะ ผมเชื่อว่าน่าจะเห็นภาพ เพราะคดีไม่ได้ซับซ้อน ภาษาชาวบ้านคือได้ติดคุกตามหมายศาลหรือไม่ ติดคุกจริงหรือไม่ เอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมาช่วยหรือไม่ เพราะรพ.ราชทัณฑ์เป็น รพ.ที่มีศักยภาพระดับ รพ.จังหวัด การที่รพ.ราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ แสดงว่าต้องป่วยหนัก อันนี้คือหลักความเชื่อทั่วไป แล้วยิ่งมาดูการไต่สวนที่บอกว่ามีการเขียนใบรับรองแพทย์ล่วงหน้า แล้วบอกว่ามีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่ถ้าไปอ่านการตรวจสอบของแพทยสภา ใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเป็นใบรับรองเพื่อส่งไปตรวจ OPD (Out-Patient Department) หรือส่งผู้ป่วยนอก แสดงว่าไม่ได้เป็นโรคที่หนักมาก
ร้องเอาผิดมาตรา 144
ระเบิดลูกใหญ่ไม่รอดไปทั้งกระดาน
-กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติรับเรื่องกรณีกล่าวหานายกรัฐมนตรี และ ครม. และพวกที่มีทั้ง สส.และ สว. จัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มองอย่างไร?
วัส-มาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ก็คือตามรัฐธรรมนูญเก่า แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อนข้างมากและรุนแรง ก็ตั้งแต่วรรคสามเป็นต้นไป โดยเฉพาะมาตรการที่มีผลบังคับที่มีความเข้มข้นขึ้น ได้เขียนไว้ในวรรคสามตอนท้ายที่ผลกระทบมากมายมหาศาล เริ่มตั้งแต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริง ก็ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น และการไม่ได้กำหนดเวลาไว้ก็คือตลอดชีวิต ก็คือประหารชีวิตทางการเมืองไป
ในกรณีนี้ ผมก็เห็นว่าในมาตรา 144 ที่มีการปรับแก้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตั้งแต่วรรคสามเป็นต้นไป และที่ผมมีข้อสังเกตก็คือ เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ตัวเลขมาตราอาจไม่ได้เป็นมาตราเดียวกัน ก็เขียนไว้แต่เขียนไว้สั้น แต่มีข้อสังเกตว่าระยะเวลาที่ให้ศาล รธน.พิจารณา ให้วินิจฉัยให้เสร็จภายในเจ็ดวัน แต่ รธน.ปี 2560 ให้เวลา 15 วัน
สำหรับผม 15 วันก็ยังน้อยไป และศาล รธน.ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลังของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้มีหน้าที่มาปราบโกงในส่วนนี้
การออกแบบให้ศาล รธน.มีบทบาทด้านนี้ ในกรณีรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คือ รธน.ปี 2550 ไม่มีสภาพบังคับที่รุนแรงเหมือนกับ รธน.ปี 2560 และตั้งแต่ที่ รธน.ปี 2560 มีการบังคับใช้ ก็มีคำร้องไปที่ศาล รธน.หลายคดีเหมือนกัน แต่เท่าที่ผมสืบค้นข้อมูลดูก็ปรากฏว่า ที่จะวินิจฉัยโดยตรงให้มีผลตามรัฐธรรมนูญที่ออกมาบังคับใช้ ตามวรรคสามตอนท้าย ก็ยังไม่ปรากฏ หรือว่าจะเป็นคราวนี้เป็นครั้งแรกผมก็ยังไม่แน่ใจ แต่ว่ามีผลกระทบรุนแรงมาก
-เท่าที่ติดตามมา ที่มีคนไปร้อง ป.ป.ช. มีเค้าหรือไม่กับการโยกงบผิดประเภท?
วัส-จริงๆ ผมสืบค้นข้อมูลดูแล้ว จริงๆ แล้วคดีที่เข้าศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องมาตรา 144 ที่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญมีแล้ว แต่มันมีส่วนหนึ่งที่ไปจาก ป.ป.ช. และจากข่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ก็ระบุว่าขอให้สภาผู้แทนราษฎรส่งข้อมูลไปเพิ่มเติม เพราะมีการร้องเรื่องการแปรงบ การใช้งบของรองประธานสภาฯ คนหนึ่ง (พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน) ที่เป็นจำนวนเงินพันกว่าล้านบาท ที่เป็นการส่งเรื่องจากสภาไป
ส่วนคำร้องที่อยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ให้อำนาจกับ ป.ป.ช.ที่มาตรา 144 วรรค 6 บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน" ซึ่ง ป.ป.ช.กำหนดเวลา 60 วัน แต่ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่ต้องพิจารณาประกอบกัน ก็จะเขียนไว้ในลักษณะที่แตกต่างกัน คือคำว่าโดยพลัน พบว่าใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 ก็บัญญัติไว้ในมาตรา 88 กับ 89 (หมวดว่าด้วยกรณีการฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ) โดยเฉพาะในมาตรา 88 วรรคสี่ บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาล รธน.โดยเร็ว” ซึ่งข้อความอาจต่างกันแต่ใกล้เคียงกัน แต่หากเป็นตามข่าวที่ว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในหกสิบวัน ที่ครบแล้วซึ่งที่มีคนไปติดตามเรื่องก็ถูกต้อง
-สถานการณ์บ้านเมืองจะลากไปจนถึงตามบทบัญญัติของมาตรา 5 ตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากเกิดสภาพสุญญากาศ ถ้ามองด้วยประสบการณ์ (มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)?
วัส-แบ่งได้เป็นสองอย่าง อย่างแรกคือข้อกฎหมาย สองคือปัญหาจากการเมือง ซึ่งการเมืองผมก็ติดตามมาตลอดแม้จะมีอาชีพเป็นผู้พิพากษา แต่ก็เป็นอาจารย์สอนกฎหมายด้วย คือในข้อกฎหมาย ผมคิดว่ายังไม่ถึงมาตรา 5 วรรคสอง ยังไม่น่าจะใช้ ในเชิงข้อกฎหมาย ส่วนในทางการเมือง ผมก็เห็นว่า น่าจะมีทางออกมากกว่านี้ ยังไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น ที่ผมเป็นห่วงมากสุดคือเรื่องฮั้วเลือก สว. อันนี้เป็นเรื่องใหญ่จะติดไปอีกนานหากเกิดไขปัญหานี้ไม่ได้ เพราะวุฒิสภายุบไม่ได้ แต่สภายุบได้ และวุฒิสภามีอายุห้าปี เท่าที่มีข่าวออกมา เรื่องฮั้วสวตอนแรกตั้งเป้าไว้ที่ 120 คน แต่ได้มา 138 บวก 2 (สำรอง) ซึ่ง 138 คนที่เป็นตัวจริง ก็ร่วมกว่า 70เปอร์เซ็นต์ (จำนวน สว. 200 คน) ก็เป็นเสียงข้างมาก ผมมองปัญหานี้ร้ายแรงมากกว่า แต่เรื่องทางการเมืองน่าจะแก้ไขได้
นพ.วรงค์-ผมคิดว่าระเบิดลูกใหญ่ที่จะลงคือ เรื่องคำร้องทำผิดมาตรา 144 ถ้าจะเคลียร์ให้จบต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย แต่แม้จะมีการยุบสภา แต่หากมีการเอาผิดมาตรา 144 พวกคุณโดนตัดสิทธิการเมืองหมด ผมถึงบอกว่าระเบิดใหญ่คือ 144 แต่ไม่รู้ระเบิดจะด้านหรือไม่ อันนี้เราคาดการณ์เอาแต่มันมีความเสี่ยงสูงที่จะโดน ทำให้รัฐบาลอิ๊งค์ไปไหนไม่ได้ ยังไงก็ต้องอยู่ในอำนาจ เพราะมีผลพวงอื่นตามมา แม้แพทองธารไป ชัยเกษมมา แต่ก็ยังมีระเบิดลูกใหญ่รออยู่ ถ้าระเบิดลูกใหญ่ทำงาน มันไปทีละหลายร้อยคน สามร้อยกว่าเกือบสี่ร้อย ทั้ง ครม.-กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
-คิดว่านายกฯ แพทองธารจะลาออกก่อนศาล รธน.วินิจฉัยหรือไม่?
นพ.วรงค์-เท่าที่เขาเดินในรูปแบบนี้ เขาคงไม่ยอม แม้ด้วยสปิริตเขาต้องไม่รับตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม แสดงว่าเขาคงสู้สุดกระดาน ที่จะสร้างปมไปเรื่อยๆ แต่ก็จะทำให้พังมากขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็พังทั้งกระดาน.