สมาคมโรงแป้งฯ รับท่อนพันธุ์ต้านโรคใบด่าง 7.2 แสนลำ กู้อุตฯ 3 แสนล้าน แจกเกษตรกร
ดร.ดุสิต พิทยาธิคุณ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย นำทีมผู้บริหารสมาคม รับมอบพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างพันธุ์อิทธิ 1, พันธุ์อิทธิ 2 และพันธุ์อิทธิ 3 จำนวน 7.2 แสนลำ แบ่งการรับมอบ 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2568 จากมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ และรองศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ กรรมการมูลนิธิฯ ให้กับโรงแป้งที่เป็นสมาชิกรวม 38 โรงงาน (16 จังหวัด) ที่เดินทางมารับต้นพันธุ์ ณ สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำต้นพันธุ์ไปปลูกขยาย และกระจายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศไทย ภายใต้แผนการขยายและกระจายพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง
ต่อมาในรอบที่ 2 (วันที่ 26-27 มิ.ย.68) ส่งมอบอีก 340,000 ลำ ให้แก่โรงแป้งที่เป็นสมาชิกรวม 34 โรงงาน (จาก 18 จังหวัด) ที่เดินทางมารับต้นพันธุ์ ณ สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำต้นพันธุ์ไปปลูกขยาย และกระจายให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของโรงแป้งต่อไป
โดยรวมทั้ง 2 รอบ ให้กับสมาชิกโรงแป้งที่ร่วมโครงการ จำนวน 72 โรงงาน กระจายอยู่ใน 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ระยอง ลพบุรี เลย สกลนคร สระแก้ว อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ราชบุรี ร้อยเอ็ด ตาก ชัยภูมิ และฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้โดยเจตนารมย์สมาคมฯ และมูลนิธิสถาบันฯ มีแนวคิดในการปราบโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศโดยไปในทิศทางเดียวกัน คือ ช่วยกันขยายและกระจายพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างอิทธิ 1, 2 และ 3 ให้เกษตรกรปลูกให้เร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมดำเนินการกันอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในปี 2569 คาดว่า มูลนิธิสถาบันฯ จะสามารถมอบต้นพันธุ์ต้านทานได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านลำ หวังปกป้องอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากว่า 3 แสนล้านบาท และมีเกษตรกรผู้ปลูกมันฯประมาณ 7 แสนครัวเรือน ก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
อย่างไรก็ดีภายหลังจากการปิดด่านไทย-กัมพูชา ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น โรงแป้งรับซื้อเชื้อแป้ง 25% (5 ก.ค.68) ราคา 2.00-2.30 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื่องจากผลผลิตออกน้อย และมีส่วนจากการปิดด่าน แต่ระยะยาวการปิดด่านจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทำให้แข่งขันกับเวียดนาม และส.ปป.ลาว ยากมากขึ้น
"การปิดด่านผลผลิตก็ไหลไปเวียดนามหมดทำให้ต้นทุนของเวียดนามก็จะถูกกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ดีภาคเอกชนเข้าใจสถานการณ์เรื่องความมั่นคง แต่จะพยายามสื่อสารให้ทุกส่วนเข้าใจและมองภาพว่าการปิดด่านจะส่งผลเสียมากกว่า"