โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

สุริยะ-ภูมิธรรม รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 20 ชั่วโมงที่ผ่านมา

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ”แพทองธาร ชินวัตร“ ด้วยมติ 7 ต่อ 2 ออกจากทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง ”แพทองธาร“ กับ ”สมเด็จฮุน เซน“

คำถามที่ถามขึ้นตามหลังการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ “แพทองธาร” คือ บุคคลที่มารักษาราชการแทนนายกฯ ทำอะไรได้แค่ไหน และสามารถ “ยุบสภา” ได้หรือไม่

คำถามดังกล่าวเคยเกิดการถกเถียงมาแล้ว ในยุคที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคำร้องดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี หรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขณะนั้นได้ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ

24 สิงหาคม 2565 “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เกจิกฎหมายของรัฐบาลเวลานั้น ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึง พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ (ในภาษาเขียน) หรือนายกฯ รักษาการ (ในภาษาพูด) มีอำนาจเต็มใช่หรือไม่ ว่า มีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง

เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ประวิตร มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุหัวเราะ ก่อนจะตอบว่า “ทำได้ แต่เขาจะทำทำไม ทำได้เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง”

ถัดมาสองปี 13 สิงหาคม 2567 ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ลุ้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูก 40 สว. ยื่นถอดถอนกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ “วิษณุ” ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ รับผิดชอบดูข้อต่อสู้ให้นายกฯ เศรษฐา

วิษณุ ตอบคำถามอำนาจของรักษาการนายกฯ สามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง รวมถึงยุบสภาได้หรือไม่ อีกครั้งว่า ปัญหานี้เกิดทุกยุคทุกสมัยแล้ว

“ผมเห็นว่า สามารถสั่งยุบสภาได้ และระหว่างในรักษาการก็ถือว่ามีอำนาจเต็ม”

เปิดอำนาจหน้าที่นายกฯ

ก่อนจะดูว่ารักษาราชการแทนนายกฯ ทำอะไรได้ หรือไม่ได้ ต้องดูหน้าที่ของนายกฯ เสียก่อน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กำหนดหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” ตามมาตรา 11 ไว้ 9 ข้อ ดังนี้

1.กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น

2.มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวงหรือทบวง

3.บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม

4.สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม

5.แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของอีก กระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมาดำรงตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

6.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง

7.แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี

8.วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

9.ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบายระเบียบตาม ข้อ 8 เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้

อำนาจรักษาราชการแทนนายกฯ

ทั้งนี้ ตามการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สามารถปล่อยให้ประเทศเกิดภาวะ “สุญญากาศ” โดยไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าราชการได้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 หมวด 6 จึงกำหนดเรื่อง “การรักษาราชการแทน”

ระบุอยู่ในมาตรา 41 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

ขณะที่มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดหรือผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมอบหมาย หรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ

ดังนั้น ทุกรัฐบาล จึงออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมา 1 ฉบับ เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

แต่ในท้ายคำสั่ง ก็จะระบุถึง “อำนาจ” ของรักษาราชการแทนนายกฯ ไว้ด้วยถ้อยคำเดียวกัน คือ

“ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน”

อำนาจ สุริยะ-ภูมิธรรม

ในกรณีของรัฐบาลแพทองธาร ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 320/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 มอบหมาย รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ 1.ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม 2.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม 3.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย 4.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน 5.พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง และ 6.ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดีอี

แต่เมื่อมีการปรับ ครม.แพทองธาร 1/1 ซึ่ง ภูมิธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ตามคำสั่งดังกล่าว ได้พ้นจากความเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จึงทำให้ “สุริยะ” ต้องมาทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ

เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 48 ที่ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

กล่าวคือ ผู้ที่รักษาราชการแทนนายกฯ มีอำนาจเช่นเดียวกับนายกฯ

แต่ในกรณีของ “สุริยะ” ยังมีอยู่ 2 เงื่อนไขท้ายคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 320/2567 คือ

1.ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การโยกย้าย แต่งตั้ง ข้าราชการ

2.การอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

“สุริยะ” จึงมีอำนาจในการนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่

ขณะเดียวกัน ”สุริยะ“ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ จึงใช้อำนาจหน้าที่ ”เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน“ ออกคำสั่งสำนักนายกฯ ตั้ง ภูมิธรรม กลับไปเป็นรองนายกฯ อันดับ 1 พร้อมสลับให้ ”ภูมิธรรม“ มาทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ

ส่วนเรื่องรักษาราชการแทนนายกฯ มีสิทธิ “ยุบสภา” หรือไม่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มือกฎหมายประจำรัฐบาลแพทองธาร “ไม่มีอะไรห้าม รัฐธรรมนูญไม่มีข้อจำกัดอะไร “นายกฯ รักษาการ ก็คือนายกฯ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น หน้าที่นายกฯมีอะไรบ้าง ก็สามารถจะทำได้หมด เพื่อว่าจะทำหรือไม่ทำ หรือที่ผ่านมาไม่มีใครเขาทำกัน”

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ”วิษณุ เครืองาม“ อดีตรองนายกฯ ที่ตอบคำถามนี้ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลเศรษฐา

รักษาราชการแทนนายกฯ กับ นายกฯ รักษาการ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณียุบสภา ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 กำหนดว่า ครม.จะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ จึงจะมีข้อจำกัด-ข้อห้าม

1.ไม่อนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ

3.ไม่อนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน-จำเป็น เว้นแต่ กกต.อนุญาต

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ กระทำอันใดที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ระเบียบของ กกต.

ดังนั้น หากนายกฯ รักษาการในกรณีที่ ไม่ใช่การ “ยุบสภา” หรือ “สภาครบวาระ” เพื่อเลือกตั้งใหม่ นายกฯ รักษาการมีอำนาจเต็มที่ เหมือนนายกฯ ทั่วไป

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สุริยะ-ภูมิธรรม รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

“สรวงศ์” ขับเคลื่อนนโยบายต้านโด๊ป หนุนงบ-ยกระดับมาตรฐานตาม WADA

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ฐาปนีย์ คอนเฟิร์ม Tomorrowland มาไทย ธ.ค. 69 เคาะจัดที่ชลบุรี คาดเม็ดเงินสะพัดพันล้าน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ราคาทองวันนี้ (3 ก.ค. 68) คงที่ ทองรูปพรรณบาทละ 52,100 บาท

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ราคาทองคำผันผวนหนัก ผลตอบแทนครึ่งปียังยืนหนึ่ง

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

สุริยะ-ภูมิธรรม รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ

กยศ. ชวน 'รุ่นพี่' ส่งต่ออนาคตให้น้อง ชำระหนี้คืนภายใน 5 ก.ค. นี้

ประชาชาติธุรกิจ

อ่านเกมชิงคลื่น AIS-True

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม