SCB EIC เตือน "กับดักพึ่งพานำเข้า" เศรษฐกิจไทยเสี่ยง เป็นแค่ "ประเทศทางผ่าน"
SCB EIC เผย กับดักเศรษฐกิจไทยในยุคพึ่งพานำเข้าสูง ธุรกิจการผลิตของไทยเกือบ 3,000 แห่ง อาจเข้าข่ายกิจกรรมสวมสิทธิ ระยะยาว โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเปลี่ยนจาก ‘ประเทศผู้ผลิต’ สู่‘ผู้ซื้อและประเทศทางผ่าน’ ในห่วงโซ่อุปทานโลก แนะรัฐดำเนินนโยบายเชิงรุก "การปกป้อง’ ‘กำกับดูแล’ และ ‘การส่งเสริม"
วันที่ 14 ก.ค. 2568 น.ส.ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยในบทวิเคราะห์ “Import influx trap…กับดักเศรษฐกิจไทยในยุคพึ่งพานำเข้าสูง” โดยระบุว่าสินค้านำเข้ากำลังมีบทบาททดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ อีกทั้ง ธุรกิจการผลิตของไทยเกือบ 3,000 แห่ง ก็อาจกำลังดำเนินงานเข้าข่ายกิจกรรมสวมสิทธิ
ทั้งนี้ทิศทางมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยมีการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 เช่นเดียวกับการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากจีนที่เพิ่มบทบาทมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วงปี 2563 – 2567 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% สูงกว่าการเติบโตของ GDP และมูลค่าการส่งออก ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ 53% ณ ปี 2567 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี
อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเผชิญภาวะขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งและครองส่วนแบ่งการนำเข้าสูงกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่ารวม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เช่น เหล็ก พลาสติก และยานยนต์ หันไปพึ่งพาและกลายเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนกันมากขึ้น
สำหรับปัจจัยกระตุ้นการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างชาตินั้น โดยไทยได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญในการระบายสินค้าส่วนเกินจากจีน ผนวกกับกระแสนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ และการเพิ่มจำนวนของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ก็เป็นปัจจัยเร่งให้สินค้าจากต่างชาติทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยมี 3 ปัจจัยกระตุ้นการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้า ได้แก่
1.การเร่งระบายสินค้าส่วนเกินออกจากจีนซึ่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจากจีนเข้าสู่ประเทศไทยขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบ 4 เท่า
2. การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค แต่รายได้จากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์เหล่านี้ มักไม่ได้หมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ และ
3.การเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ทั้งในภาคก่อสร้าง, ร้านอาหาร, ภาคบริการ รวมถึงภาคการผลิต โดยธุรกิจเหล่านี้นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยในระดับต่ำ บางส่วนยังอาจเข้ามาลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก ทำให้การดำเนินกิจการมักเน้นการนำเข้าสินค้ามาประกอบขั้นต้น ก่อนส่งออกไปยังประเทศที่สามต่อไป
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยในยุคที่พึ่งพาการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้านำเข้ากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งในแง่การบริโภคและการส่งออก อีกทั้งยังพบสัญญาณที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของไทยเกือบ 3,000 แห่ง เข้าข่ายดำเนินกิจการแบบซื้อมา–ขายไป ซึ่งบางส่วนเสี่ยงที่จะเป็นเพียงโรงงานแปรรูปเบื้องต้นหรือดำเนินกิจกรรมสวมสิทธิ
ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์โดย SCB EIC พบว่า
1.การบริโภคภายในประเทศและภาคส่งออกของไทยมีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าที่ผลิตในประเทศลดลง และหันไปพึ่งพาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนมากขึ้น ส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้ช้า
2.ธุรกิจภาคการผลิตในไทยเกือบ 3,000 แห่ง อาจกำลังดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เน้นการซื้อมา-ขายไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนเข้าข่ายกิจกรรมสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า ทั้งนี้ ผลกระทบจากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น
อีกทั้งในระยะยาว โครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจค่อย ๆ เปลี่ยนจาก ‘ประเทศผู้ผลิต’ ไปสู่บทบาท ‘ผู้ซื้อและประเทศทางผ่าน’ ในห่วงโซ่อุปทานโลก และทำให้เกิดการเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมการผลิตภายในประเทศ
ทั้ง SCB EIC ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับแนวโน้มการนำเข้าที่เร่งตัว โดยนโยบายเชิงรุกจากภาครัฐที่ครอบคลุม ทั้งด้าน ‘การปกป้อง’ ‘กำกับดูแล’ และ ‘การส่งเสริม’ จะเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว แม้การเปิดรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งสินค้านำเข้าก็ช่วยให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีตัวเลือกและระดับราคาหลากหลาย แต่รูปแบบการเติบโตที่อิงกับโมเดลซื้อมา-ขายไป และกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงภายในประเทศ อาจกลายเป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ การกำเนิดนโยบายเชิงรุกเพื่อกำกับดูแลการลงทุน ตลอดจนการคัดกรองขอบเขตและคุณภาพสินค้านำเข้า จึงเป็นกลไกสำคัญในการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : SCB EIC เตือน "กับดักพึ่งพานำเข้า" เศรษฐกิจไทยเสี่ยง เป็นแค่ "ประเทศทางผ่าน"
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th