ทำไมข่าวลือผู้นำจีน ผุดไม่หยุด ‘ลือจริง’ หรือ ‘แค่เกมปั่น’
หากจะถกหรือพูดถึงกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมืองของจีนต้องพึงรำลึกไว้ก่อนว่า ข่าวลือเกี่ยวกับการทำงานภายในโปลิตบูโรเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า “ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด”
ตัวอย่างหนึ่งในข่าวลือที่ไม่เป็นจริงและเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การรายงานข่าวที่ผิดพลาดของสถานีโทรทัศน์ฮ่องกงที่รายงานการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินในปี 2011 ก่อนที่เขาจะถึงแก่อสัญกรรมจริงในปี 2022 ที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องอนาคตของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ก็เป็นเรื่องที่ถูกคาดเดาไปต่างๆ นานา ไม่ต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งมีผลมาจากหลายปัจจัย รวมถึงวิกฤติการสืบทอดอำนาจที่ปธน.สีสร้างเอง และการขาดผู้สืบทอดหรือแผนที่ชัดเจนก็สร้างความไม่แน่นอนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้
การที่ผู้คนหมกหมุ่นเรื่องอนาคตของสี จิ้นผิงแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของการเมืองที่ไม่โปร่งใสในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
สองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เกิดการคาดเดาต่างๆ นานาว่าทำไมประธานาธิบดีสี ไม่เข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ (BRICS) ในบราซิล และการไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะของสี จิ้นผิงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดที่ไร้เหตุผลขึ้นมากมาย
แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็เงียบลงในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อผู้นำจีนพบปะกับ เอส. ชัยชานการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย, แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก Shanghai Cooperation Organization ในปักกิ่ง
การไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดบริกส์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขาขึ้นมามีอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับสี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเศรษฐกิจนี้ และทำให้กลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันในการปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจโลก
รายงานจากหลายแหล่ง เผยว่า จีนส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ไปร่วมประชุมบริกส์แทน และอ้างว่าเกิดจากปัญหาตารางงานทับซ้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานที่อ้างถึงการพบปะกันบ่อยครั้งระหว่างสี จิ้นผิง กับหลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลในช่วงปีที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ตารางงานทับซ้อน และไม่สามารถไปร่วมประชุมบริกส์ได้
อย่างไรก็ตาม แม้สีออกงานและพบปะผู้นำต่างประเทศในระดับต่างๆ ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งข่าวลือต่างๆ ที่แพร่สะพัดได้
ข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาภายในกลุ่มผู้นำระดับสูงของจีนเคยปรากฏมาก่อนแล้ว ล่าสุดในปี 2022 ที่มีการกล่าวอ้างอย่างไม่มีหลักฐานถึงนายพลจีนคนหนึ่งว่าเขาก่อรัฐประหาร ข่าวนี้แพร่สะพัดในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลและสื่ออินเดีย แต่ที่น่าสังเกตคือสื่อในอินเดียหยิบยกรายงานที่ไม่มีมูลมานำเสนอ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนและอินเดียที่มีมานาน
ดังนั้น จึงไม่ประหลาดใจที่ข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ประเทศจีนจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงนี้
บิล บิชอป ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับลัทธิจีน (Sinocism) ในแพลตฟอร์ม Substack และผู้ร่วมดำเนินรายการพอดแคสต์ Sharp China กล่าวในรายการล่าสุด “ผมเข้าใจว่าทำไมคนถึงอยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง“
"ความคิดที่ว่าคนใหม่จะเข้ามาและแก้ไขเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเปลี่ยนวิธีการรับมือกับรัสเซีย หรือบางทีอาจเปลี่ยนแนวทางในการค้าขาย เห็นไหม มันง่ายกว่ามากที่จะคาดหวังให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แทนที่จะรับมือกับความเป็นจริง”
หากสังเกตการปรากฏตัวของประธานาธิสีผ่านสื่อรัฐบาลจะเห็นว่าเขามีสง่าราศีมากกว่าที่เคย ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่าวันเวลาของผู้นำคนนี้กำลังจะหมดลงหรือไม่
เมื่อเดือนที่แล้ว China Media Project ได้ศึกษาวิจัยเพื่อประเมินว่าผู้นำจีนคนปัจจุบันถูกลดความสำคัญในสื่อรัฐบาลจริงหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน ผลการวิจัยของหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้พบแค่ว่า “สี จิ้นผิง” ยังคงมีอิทธิพลเหนือกว่าคนอื่นๆ เท่านั้น แต่ไม่พบสัญญาณใดที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า (ในตำแหน่ง) ของสมาชิกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองคนอื่นๆ เลย
แล้วเราจะถอดรหัสอะไรได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้นำระดับสูงของพรรคคอมิวนิสต์ แน่นอนว่าการอ่านเกมนี้เป็นเรื่องยาก
กัวกวง อู นักวิจัยอาวุโสด้านการเมืองจีน จากศูนย์วิเคราะห์จีน สถาบันนโยบายเอเชียโซไซตี กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดการกวาดล้างครั้งใหม่
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สูญเสียอำนาจคือ พลเรือเอกเหมียว หัว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอิทธิในกองทัพจีนลำดับที่ 5 เขาถูกปลดตำแหน่งออกจากหน่วยงานระดับสูงของกองทัพจีนเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
นายพลเหมียวมีบทบาทสำคัญภายในกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ถูกควบคุมจากพรรคคอมนิวสต์อีกที เหมียวรับผิดชอบในการเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงและคอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค
ชะตากรรมของเหมียวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆ เกี่ยวกับอำนาจของสี
ทั้งนี้ ภายใต้การนำของสี รัฐบาลได้ปลดเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงมากกว่าสิบรายแล้ว นับตั้งแต่ปี 2024 ที่สั่งสืบสวนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในการซื้อฮาร์ดแวร์ในปี 2017
ผลการสืบสวนดังกล่าวส่งผลให้อดีตรัฐมนตรีกลาโหม 2 คนถูกขับออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาทุจริต โดยถูกกล่าวหาว่ารับสินบน ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองของสหรัฐมองว่า การกวาดล้างครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อการค้นพบการทุจริตทางการเงินอย่างกว้างขวางในกองทัพ รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลคลังอาวุธนิวเคลียร์ที่กำลังขยายตัวของประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรุกรานไต้หวัน เกาะปกครองตนเองที่จีนอ้างสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม การกวาดล้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เอี่ยวเรื่องทุจริตไม่ได้บ่งชี้ว่า สี จิ้นผิง ปลอดภัย แม้เขามีอำนาจที่มั่นคง
“เขาอาจปกครองจีนไปจนกว่าเขาจะ ‘ไปพบมาร์กซ์’” ตามสำนวนที่นิยมพูดกันในแวดวงคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในประเทศจีนหรืออดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งสื่อถึง “การเสียชีวิต” หรือ “ตาย”
ในทุกก้าวเดิน ผู้นำจีนคนนี้ได้ฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อเสริมแกร่งอำนาจ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง เพื่อให้เขาสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งถือเป็นการแหกกฎการสืบทอดอำนาจที่กำหนดไว้หลังยุคเหมา เจ๋อตง
นอกจากนี้ สียังคงครองอำนาจต่อหลังอายุเกษียณ 68 ปีด้วย นั่นถือว่าเขาเพิกเฉยต่อบรรทัดฐานเดิมที่ระบุว่า ผู้นำที่มีอายุเท่านี้หรือมากกว่านั้นควรเกษียณอายุได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับชะตากรรมของสี จิ้นผิง ผู้คนก็จะกันไปใช้วิธีการตีความเก่าๆ แบบ “ปักกิ่งวิทยา” ที่เคยใช้ในยุคสงครามเย็น หรือการอ่านสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ จากวงในของพรรค นั่นหมายความว่า สิ่งเดียวที่เราแน่ใจได้ว่าจะเกิดขึ้นคือ “ข่าวลือที่จะเพิ่มมากขึ้น” และแน่นอนว่าข่าวลือเหล่านั้น “ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องไม่จริง”
อ้างอิง: Bloomberg