ท่องเที่ยวฝากการบ้านผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ วอนลดดอกเบี้ย แก้หนี้ครัวเรือน
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สิ่งที่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้นายวิทัย รัตนากร ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่พิจารณาหลักๆ คือ การพิจารณาลดภาระทางการเงินของธุรกิจ โดยอยากให้มีการออกมาตรการผ่อนชำระดอกเบี้ย ภาระผูกพัน เพื่อให้สถาบันการเงินมีมาตรการที่ยืดหยุ่นในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ
โดยปกติช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปีจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) แต่ธุรกิจโรงแรมยังจำเป็นต้องชำระภาษีที่ดินทั่วประเทศ โดยเฉพาะปี 2568 นี้ที่หลายโรงแรมขาดกระแสเงินสด โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัดที่มีเนื้อที่เยอะ แม้ไม่ได้เป็นโรงแรมในระดับ 4-5 ดาวก็ตาม จึงอยากให้ ธปท.มีมาตรการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนภาระการเงินเหล่านี้
รวมถึงการทำเรื่องของความยั่งยืน โดยอยากให้แบงก์ชาติมีการพิจารณาช่องทางในการสนับสนุน โดยอาจมีแพ็คเกจช่วยให้ธุรกิจโรงแรม ดำเนินการเรื่องกรีนโฮเทล หรือโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่ง หรือ อาจช่วยเรื่องค่าตรวจประเมินในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีโรงแรมจำนวน 600 แห่งพยายามตรวจประเมินให้ผ่านเกณฑ์สู่กรีนโฮเทลในปี 2569 นี้
“การมีผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่นี้ เอกชนอยากให้พิจารณามาตรการต่างๆ ที่จะออกมาในระยะถัดไปอย่างเหมาะสม ทำงานภายใต้ความเป็นอิสระ แต่รับฟังเสียงของธุรกิจด้วยว่า มีผลกระทบอะไรหรืออย่างไร จึงต้องบอกว่าการมีผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่นี้ ถือเป็นความคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรับฟังเสียงสะท้อนของธุรกิจมากขึ้น"
เพราะขณะนี้มีเรื่องของภาษีทรัมป์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก โรงงาน การจ้างงานต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบแบงก์ชาติก็น่าจะมีการกำหนดนโยบายที่ยืดหยุ่นและสนับสนุนผู้ประกอบการ เป็นการรับฟัง แม้ไม่ได้รับข้อเสนอไปดำเนินการแต่ขอให้รับฟังก่อน ไม่ใช่การนิ่งเฉยหรืออิกนอร์ไปเลย
ส่วนอัตราดอกเบี้ยหากมีการปรับลดลงได้อีก ก็ถือเป็นผลเชิงบวกต่อภาคธุรกิจและการลงทุนอยู่แล้ว เนื่องจากส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่วิ่งอยู่ในโซนแข็งค่านั้นก็ อยากให้พิจารณาค่าเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ดำเนินการในเรื่องเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและ ประชาชน ให้สามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยากให้โฟกัสใน 3 เรื่องหลัก
ได้แก่ 1.อยากให้พิจารณาในเรื่องของค่าเงิน + ดอกเบี้ย โดยมุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการใน แข่งขันการค้าระหว่างประเทศ 2.มาตรการการดูแลสินเชื่อ SME ที่ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ 3.แบ่งปันภาระ หนี้ครัวเรือน ลดภาระผู้บริโภค ในการแบกหนี้สิน และ พอมีเงินใช้จ่ายดูแลครอบครัวที่เหมาะสม
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย เผยว่าสิ่งที่คนท่องเที่ยวและ SME อยากให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่
1. การแก้ปัญหาเร่งด่วนและการบริหารเศรษฐกิจมหภาพ
อันดับแรกคือการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน ทั้งจากนโยบายภาษีทรัมป์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ควรมีการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้าน เพื่อวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ช่วงโควิด เช่น การท่องเที่ยว SMe และที่กำลังเสี่ยงต่อภาวะวิกฤต เช่น เกษตรกร และอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชน
2. นโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบาย
ผู้ประกอบการคาดหวังให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ใช้นโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนไว โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เช่น อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงิน การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรเป็นไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วย โดยอยากให้มีเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ และ SME ให้มากขึ้น
3. ค่าเงินบาท
ขอให้เน้นการจัดการค่าเงินให้มีเสถียรภาพ เพื่อที่เอกชนสามารถวางกลยุทธได้อย่างเหมาะสมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
4. การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสินเชื่อ
คาดหวังให้มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม รวมถึงการส่งเสริมให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม เข้าใจและทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ท่องเที่ยวและชุมชนที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech & AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
5. การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรื
อน
ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ควรมีมาตรการที่หลากหลายและครอบคลุม ทั้งการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ การให้คำปรึกษา และการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อลดภาระหนี้และฟื้นฟูสภาพคล่องให้กับครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม