‘เวสต์แบงก์’ กลายเป็นคุกใหญ่ ‘อิสราเอล’ ล้อมรั้วเหล็กสูง
ประตูเหล็กขนาดใหญ่และแนวป้องกันได้ปิดกั้นเส้นทางเข้าออกเมืองซินจิลทางตะวันออก ในเขตเวสต์แบงก์ไว้เกือบทั้งหมด โดยมีทหารอิสราเอลเฝ้าอยู่บริเวณจุดตรวจเข้ม ดูคล้ายจะตัดขาดคนในเมืองออกจากพื้นที่ภายนอก
“ตอนนี้เมืองซินจิลกลายเป็นเรือนจำขนาดใหญ่แล้ว” มูซา ชาบาเนห์ ชาวเมืองซินจิล 52 ปี บอก ขณะยืนดูคนงานกำลังติดตั้งรั้วตะข่ายเหล็กขนาดใหญ่กั้นพื้นที่เมืองนี้ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวเคยปลูกต้นไม้ขาย แหล่งรายได้เดียวของเขา
“แน่นอน พวกเราถูกห้ามไม่ให้ทำงานในเรือนเพาะชำต้นไม้นี้ต่อ และที่นี่ยังถูกเผา บางส่วนก็ถูกขโมยไป สุดท้ายพวกเขาก็ทำลายอาชีพเราด้วย” มูซากล่าว
กำแพงและจุดตรวจที่กองกำลังอิสราเอลสร้างขึ้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์เกือบ 3 ล้านคนมาช้านาน แต่ปัจจุบันหลายคนบอกว่า การขยายกำแพงไกลและหนาแน่นเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มต้น ทำให้เมืองและหมู่บ้านต่างๆ ตกอยู่ในภาวะถูกปิดล้อมอย่างถาวร
รั้วเหล็กกั้นในเมืองซินจิล เป็นอีกเครื่องกีดขวางตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วดินแดนแห่งนี้ ขณะที่กองทัพอิสราเอลระบุว่า ได้สร้างรั้วนี้ขึ้นมาเพื่อปกป้องทางหลวงรามัลลาห์-นาบลัส
เนื่องจากผู้อยู่อาศัยยังคงได้รับอนุญาตให้เข้าและออกเมืองผ่านทางเข้าเพียงทางเดียวที่เหลืออยู่ นโยบายดังกล่าวจึงถือว่าอนุญาตให้ "เข้าเมืองได้อย่างอิสระ" กองทัพอิสราเอลกล่าว
ตัดขาดผู้คน
แต่มุมมองชาวบ้าน เป็นการตัดขาดผู้คนในพื้นที่ ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นต้องเดินหรือขับรถไปตามถนนแคบๆ คดเคี้ยวไปยังจุดเข้าเพียงจุดเดียวที่ได้รับอนุญาต ทั้งยังมีการปิดทางแยกบางแห่ง สำหรับเดินเท้าเพื่อไปยังรถยนต์ที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตรงข้าม
บาฮา โฟกา รองนายกเทศมนตรี กล่าวว่า รั้วเหล็กได้ปิดกั้นผู้พักอาศัย 8,000 คนไว้ในพื้นที่เพียง 0.04 ตารางกิโลเมตร ทำให้ไม่อาจเข้าถึงพื้นที่โดยรอบ 8.09 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองนี้
อิสราเอลกล่าวว่า รั้วและสิ่งกีดขวางในเขตเวสต์แบงก์มีความจำเป็นเพื่อปกป้องผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวที่ย้ายไปที่นั่นนับตั้งแต่อิสราเอลยึดครองดินแดนดังกล่าวในสงครามเมื่อปี 2510
ยุทธวิธี ในสถานการณ์ความมั่นคงซับซ้อน
ปัจจุบันมีชาวอิสราเอลราว 700,000 คนอาศัยอยู่ในดินแดนที่อิสราเอลยึดครองได้ในปี 1967 ประเทศส่วนใหญ่ถือว่าชุมชนดังกล่าวละเมิดอนุสัญญาเจนีวาซึ่งห้ามไม่ให้พลเรือนตั้งถิ่นฐานบนดินแดนที่ยึดครอง อิสราเอลกล่าวว่าการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและมีเหตุผลสมควรเนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์
หลังจากหลายทศวรรษที่อิสราเอลพูดเป็นนัยถึงโอกาสที่ปาเลสไตน์จะแยกตัวเป็นอิสระ รัฐบาลอิสราเอลฝ่ายขวาจัดได้รวมกับผู้เคลื่อนไหวผู้ตั้งถิ่นฐานที่มีชื่อเสียง ซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่า พวกเขาตั้งถิ่นฐานเพื่อผนวกเวสต์แบงก์ทั้งหมด
กองทัพอิสราเอลกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารต้องปฏิบัติการภายใต้ "สถานการณ์ความมั่นคงที่ซับซ้อน" และต้องย้ายจุดตรวจและตั้งจุดตรวจใหม่เป็นประจำเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อภัยคุกคามจากชุมชนชาวปาเลสไตน์
เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลปาเลสไตน์ซึ่งปกครองตนเองได้จำกัดในเขตเวสต์แบงก์ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล สงสัยว่าผลกระทบที่กดดันต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันนั้นเกิดขึ้นอย่างตั้งใจ โดยเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวอาจย้อนกลับมาทำร้ายอิสราเอลโดยทำให้เยาวชนจำนวนมากขึ้นเห็นอกเห็นใจกลุ่มก่อการร้ายในอนาคต
อ้างอิง Reuters