บีโอไอ แก้พ.ร.บ.ฉบับใหญ่ เพิ่มสิทธิประโยชน์เครดิตภาษี ดึงลงทุน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มเติมสิทธิและประโยชน์ทางด้านเครดิตภาษี (Qualified Refundable Tax Credits : QRTC) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการชักจูงให้ผู้ประกอบเข้ามาการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้ บีโอไอ ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.การเพิ่มขีดฯ เพื่อให้สิทธิและประโยชน์เครดิตภาษี เนื่องจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ได้จัดทำข้อเสนอแนวการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป (ประมาณ 28,000 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15%
ส่วนในกรณีที่บริษัทในเครือในประเทศใดมีอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate: ETR) ต่ำกว่า 15% จะมีกระบวนการให้ประเทศนั้น หรือประเทศของบริษัทแม่ หรือประเทศของบริษัทในเครือสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม (Domestic Top-up Tax) ให้ครบตามอัตราภาษีขั้นต่ำ โดยให้สิทธิจัดเก็บภาษีตามลำดับข้างต้น
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับแนวการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ และสามารถแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย บีโอไอ จึงเห็นว่า ควรดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถฯ โดยการให้สิทธิและประโยชน์ในรูปแบบเครดิตภาษี (QRTC) เพื่อเพิ่มเครื่องมือในการชักจูงให้ผู้ประกอบการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถฯ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถนำเครดิตภาษีไปใช้ชำระภาษีต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด หากเครดิตภาษียังคงเหลือ ผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถขอคืนในรูปแบบเงินสดภายในระยะดังกล่าวได้
ทั้งนี้จึงต้องแก้ไขบทบัญญัติของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. การให้สิทธิและประโยชน์เครดิตภาษี และการใช้เครดิตภาษีแทนการชำระภาษีอากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 และเพิ่มมาตรา 23/1)
2. การคืนเครดิตภาษีที่เหลืออยู่จากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 มาตรา 29 และมาตรา 30 และเพิ่มมาตรา 26/1)
3. การเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เครดิตภาษี (เพิ่มมาตรา 27/1)
4. การประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ (เพิ่มมาตรา 12/1)
5. กำหนดบทเฉพาะกาล (เพิ่มมาตรา 39)
อย่างไรก็ตามผลของการดำเนินการใช้สิทธิเครดิตภาษี จะมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องต่อผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นอย่างสูง ดังนั้น เพื่อให้การใช้สิทธิและประโยชน์เครดิตภาษีเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และเกิดผลประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศโดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
กรณีนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อใช้วิธีอื่นใดได้นอกจากการบังคับใช้ระบบการอนุญาต/ใบอนุญาต เพื่อกำกับการดูแลในการให้และการใช้สิทธิเครดิตภาษี รวมไปถึงการคืนเงินสดสำหรับเครดิตภาษีที่เหลืออยู่อย่างเคร่งครัด