พิชัย เตรียมมาตรการรับภาษีสหรัฐ สั่งเอกชนเช็คผลกระทบผู้ส่งออก
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงารัฐ และภาคเอกชน ถึงการรับมือนโยบายภาษีสหรัฐ ว่า การหารือวันนี้เป็นกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ระหว่างรอเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการกับสหรัฐ เพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ก่อนวันที่ 1 ส.ค.68
ทั้งนี้ เราได้เตรียมพร้อมทุกอย่างไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาทางใดบ้าง และเราเตรียมแนวทางไว้ทุกอย่างแล้ว ทั้งผลลัพธ์ดี ผลลัพธ์ดีปานกลาง เป็นต้น ฉะนั้น เราจึงต้องมาพิจารณาดูว่ากระทบภาคส่วนใดบ้าง เนื่องจากผลกระทบนั้นมีต่อผู้ประกอบการหลายภาคส่วน
นายพิชัย กล่าวว่า เดิมเราพูดถึงผลกระทบจากภาพใหญ่ที่เราดูว่ามีผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่ตอนนี้ต้องลงรายละเอียด เนื่องจากอัตราภาษีมีหลายส่วน เช่น กลุ่มสินค้าไทย กลุ่มที่เป็นส่วนประกอบที่เป็นสินค้าไทยไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ที่สหรัฐกำหนด หรือ Local content ฉะนั้น ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน และแต่ละคนมีสาขาธุรกิจที่แตกต่างกัน
“จากภาพดังกล่าว เราจึงขอเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนมาแจ้งรายละเอียด และขอให้เขาทำการบ้านส่งมาให้เรา ในวันศุกร์นี้ เพื่อหารือกันต่อว่าปัญหาที่แตกต่างเหล่านี้ ควรกำหนดมาตรการอะไร ซึ่งขณะนี้เราเตรียมมาตรการไว้แล้ว ว่ามาตรการใดเหมาะกับใคร ทั้งนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการบ้านมาก่อน”
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า ทางสภาหอฯ มีความกังวลและห่วงว่า การเจรจาภาษีตอบโต้ระหว่างไทยกับสหรัฐจะไม่จบ และจะทำให้ไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ 36% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่แรงไป
ทั้งนี้ เราคาดหวังว่า สหรัฐจะคิดอัตราภาษีไทยในอัตราที่ต่ำกว่าการเก็บภาษีจากเวียดนาม เพราะไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐน้อยกว่าเวียดนามมาก โดยเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญ ขณะที่ไทยเกินดุลการค้าแค่ 4 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้ เรายังหวังว่า ไทยจะได้รับอัตราภาษีที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เรียกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) รวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือซีพีเอฟ เพื่อจัดเตรียมมาตรการเยียวยา รวมถึงข้อเสนอเพิ่มเติม กรณีการจัดเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐอเมริกาในอัตรา 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค.68 นี้