กทม.ชวน คนกรุง แยกขยะ ลุ้นรับส่วนลด !
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานแถลงโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม นับถอยหลัง 80 วัน จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะใหม่ โดยกล่าวว่า การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับอาคารหรือสถานที่ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY
กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่ถือเครื่อง Handheld ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่บ้าน หรือลงทะเบียนที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะที่สำนักงานเขต ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ ซึ่ง กทม. ได้เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2568 เป็นต้นมา สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้แล้ว และแอปพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ก่อนเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือน ต.ค. 68
จากข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค. 2568 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แล้วจำนวน 112,601 ครัวเรือน ในส่วนของประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียม คือ จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 60 บาท จะได้รับส่วนลดเหลือ 20 บาท โดยบ้านที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์บ้านนี้ไม่เทรวม ตลอด 1 ปีแรก บ้านที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงเขียวใส่ขยะเศษอาหาร
ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะเป็นระยะ หากตรวจพบว่าไม่ได้แยกขยะตามที่กำหนด ระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะโดนตัดสิทธิการรับส่วนลดค่าธรรมเนียมขยะ เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบและยืนยันสิทธิอีกครั้ง
2.การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือน ต.ค. 68 แนวทางเบื้องต้นคือต้องมีการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนพร้อมหลักฐาน หากหมู่บ้านหรือชุมชน ไม่มีที่พักขยะรวม หรือไม่ได้มีการลงทะเบียนแบบกลุ่ม สมาชิกสามารถลงทะเบียนแบบเดี่ยวได้
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปรับอัตราค่าธรรมเนียม และการเก็บขยะแยกประเภท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้สนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น BKK WASTE PAY และเว็บไซต์ BKK WASTE PAY
โดยเมื่อประชาชนลงทะเบียนและส่งหลักฐานการคัดแยกขยะผ่านช่องทางดังกล่าว และปักหมุดพิกัดบ้านบนแผนที่ในแอปพลิเคชั่น จะช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะทราบตำแหน่งบ้านของผู้ลงทะเบียน รวมถึงใช้ในการจัดเข้าเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ หากพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะสามารถแจ้งได้ที่ Traffy Fondue
ปัจจุบัน กทม. ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 6,000–7,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีปริมาณขยะสูงถึง 10,000 ตันต่อวัน ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นขยะเศษอาหาร โครงการนี้มีเป้าหมายลดขยะให้ได้อย่างน้อย 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะได้ประมาณ 2 ล้านบาทต่อวัน หรือมากกว่า 2,100 ล้านบาทต่อปี
สำหรับกลุ่มหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัยที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือห้อง จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป และจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราใหม่ในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน
ในส่วนของภาคเอกชน เช่น ตลาด ห้างร้าน โรงแรม และสำนักงาน ที่มีขยะมูลฝอยเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าธรรมเนียมจะปรับเพิ่มจาก 2,000 บาทต่อเดือน เป็น 8,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หากมีการคัดแยกและลดปริมาณขยะได้ อัตราค่าธรรมเนียมก็จะสามารถลดลงได้ตามปริมาณขยะที่ลดลง โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกรุงเทพมหานครในการจัดการสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมของประชาชนอย่างยั่งยืน