อะไรคือโดมความร้อนที่ปกคลุมยุโรปเวลานี้? หรือ 40°C+ คือมาตรฐานใหม่?
การเดินทางท่องเที่ยวยุโรปฤดูร้อนนี้คงจะเป็นปีที่ได้สัมผัสกับความร้อนของยุโรปมากกว่าครั้งไหน เพราะช่วงสุดสัปดาห์จนถึงวันจันทร์ (ราว 28–30 มิถุนายน) ที่ผ่านมา ยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนลูกใหญ่ ที่ทำให้เดือนมิถุนายน 2568 ทุบสถิติเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดในหลายพื้นที่ของยุโรป
เมื่อวานนี้ (วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2568) หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส และสูงสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน เมืองกรานาดา ทางตอนใต้ของสเปนมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส และคาดว่าอีกหลายพื้นที่ในยุโรปจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 42 องศาเซลเซียส และยิ่งทวีความรุนแรงช่วงกลางสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน
ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือประเทศทางตอนใต้ของทวีป อาทิ สเปน โปรตุเกส อิตาลี ฝรั่งเศส กรีซ และยังมีประเทศอื่นอย่าง ตุรกี สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ด้วย
มวลความร้อนที่กลืนกินยุโรปบางส่วนครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “heat dome” หรือโดมความร้อน
อะไรคือโดมความร้อน?
โดมความร้อนคือ การที่อากาศความกดอากาศสูงติดอยู่ในพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง เนื่องจากพลวัตบรรยากาศรอบ ๆ ไม่ปล่อยให้มวลอากาศความกดอากาศสูงนี้เคลื่อนที่ออกไปนอกพื้นที่ และครอบอากาศอุ่นไว้ด้านใน
โดมความร้อนเทียบได้กับการเอาฝามาปิดครอบหม้อน้ำร้อน มีอากาศความกดอากาศสูงทำหน้าที่เป็นฝา กดมวลอากาศร้อนไว้ข้างใต้ อากาศร้อนจะบีบอัดกันไว้จนกลายเป็น “โดม” และอากาศร้อนนี้เองทำให้การก่อตัวของเมฆเป็นไปได้ยาก ภายในโดมความร้อน เราจะเห็นท้องฟ้าสีสดใส ไร้เมฆ ที่เปิดทางให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่องมาถึงพื้นดินได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันบ้างเลย
แม้ในโดมจะมีลมเย็นพัดผ่านบ้างเล็กน้อย แต่ยิ่งโดมครอบอยู่เหนือพื้นที่หนึ่งนานเท่าไหร่ อาคารบ้านเรือน พื้นถนน และวัตถุที่อยู่ใต้ร่มเงาโดมก็จะยิ่งดูดซับความร้อนไว้มากขึ้น พื้นดินจะแห้งและแตกระแหง ความแห้งเพิ่มแนวโน้มเกิดไฟป่าจากพืชพรรณที่แห้งมาก
ปรากฏการณ์โดมความร้อนอาจเกิดขึ้นนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ในกรณีของโดมที่ครอบคลุมยุโรปอยู่ในขณะนี้ นักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะกระจายตัวภายในไม่กี่วัน เมื่อระบบสภาพอากาศใหม่เข้ามาแทนที่ เช่น พายุ หรือระบบอากาศความกดอากาศต่ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า และจะผลักให้ระบบอากาศความกดอากาศสูงก้อนนี้ออกไปจากพื้นที่
เลขาฯ UN เตือน ร้อนแบบนี้อาจเป็น New Normal
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย X ว่า
“ความร้อนสุดขั้วไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดได้ยากอีกต่อไปแล้ว – กลายเป็นวิถีความปกติใหม่ (new normal) ผมได้ประสบเองโดยตรงที่สเปนระหว่างการประชุมการเงินเพื่อการพัฒนา (the Financing for Development Conference) โลกเรากำลังร้อนขึ้น และอันตรายมากขึ้น – ไม่มีประเทศใดมีภูมิคุ้มกันเลย เราต้อง #ดำเนินการด้านสภาพอากาศ อย่างทะเยอทะยานมากกว่าเดิม”
โลกแปรปรวนมีเกี่ยวไหม?
โดมความร้อนไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศใหม่ และยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนว่า โดมความร้อนในเดือนมิถุนายนครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยตรง
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงมากขึ้น และการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้นในยุโรปตะวันตก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของคลื่นความร้อน
มีการยืนยันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น รวมทั้งเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย
การก่อตัวของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งโดยมากมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น
ปรากฏการณ์ความร้อนในยุโรปครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ อาทิ ไฟป่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ไฟป่าทางตอนใต้ของกรุงเอเธนส์ในกรีซ และไฟป่าทางตะวันตกของตุรกี
หลายประเทศประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อน แจ้งให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ระมัดระวัง ในอิตาลี โรงพยาบาลในหลายแคว้นเปิดให้บริการศูนย์พักพิงจากสภาพอากาศ เมืองมาร์แซย์ของฝรั่งเศสเปิดให้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะฟรีอีกด้วย