กสศ. เปิดศูนย์การเรียนรู้ฉุกเฉิน 4 จังหวัดชายแดน หลังเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา หวังฟื้นฟูจิตใจเด็ก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ฉุกเฉิน ดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ หวังเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเยียวยา ฟื้นฟูพัฒนาการ ป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยถึงความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจำนวนมาก โดยเฉพาะการปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด การอพยพออกจากพื้นที่ และความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) รวมถึงบาดแผลทางจิตใจที่อาจพัฒนาเป็นภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)
เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น กสศ. ร่วมมือกับเครือข่ายใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบ” เพื่อเป็น Safe Space ให้เด็กได้เรียน เล่น และฟื้นฟูจิตใจในช่วงเวลาวิกฤต โดยกิจกรรมภายในศูนย์จะเน้นการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ผสมผสานกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ดนตรีบำบัด วาดภาพ และให้คำปรึกษาด้านจิตใจ
เครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่เริ่มลงสำรวจความต้องการเร่งด่วน เช่น สื่อการเรียนรู้ อุปกรณ์จำเป็น รวมถึงการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละศูนย์พักพิง
รศ. ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า เด็กจำนวนมากที่อยู่ในศูนย์พักพิง แม้ยังไม่แสดงออกทางพฤติกรรม แต่มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจระยะยาวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความวิตกกังวลที่สะสมจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันอย่างฉับพลัน จึงต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของเด็กแต่ละช่วงวัย
“เด็กๆ กำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยไม่มีใครคาดคิด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องไปหาเขา ไปคุยกับเขา ไปเล่นกับเขา เพื่อให้เขารู้ว่ายังมีคนที่ห่วงใย และพร้อมจะฟังเขา” รศ. ดร.ประจวบกล่าว
กสศ. และเครือข่ายภาคีเตรียมขยายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ชายแดนอื่นๆ เพื่อไม่ให้เด็กคนใดต้องเสียโอกาสจากความขัดแย้ง พร้อมเปิดสายด่วน Call Center โทร. 0 2079 5475 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและการร่วมสนับสนุน