กัมพูชาซัด รมว.วัฒนธรรมไทย "บิดเบือน" ปมปราสาทตาเมือน
วันนี้ (5 ก.ค.2568) Khmer Times รายงาน กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อคัดค้านข้อกล่าวอ้างของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รมว.วัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งระบุเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2568 ว่ากลุ่ม ปราสาทตาเมือน หรือ ตาเมือนธม ใน จ.สุรินทร์ เป็นโบราณสถานของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 กัมพูชายืนยันว่าข้อกล่าวอ้างนี้ไม่สอดคล้องกับความจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
แถลงการณ์ของกัมพูชาระบุว่า ข้ออ้างของไทยที่ระบุว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในเขตอธิปไตยของตน โดยอ้างอิงจากการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2505 และแผนที่ที่จัดทำขึ้นฝ่ายเดียวนั้น ขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย กัมพูชาย้ำว่า ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับ บันทึกความเข้าใจ (MoU) ปี 2543 ซึ่งไทยและกัมพูชาตกลงร่วมกันใช้ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 อันเป็นผลจาก สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 2447 และ 2450 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้
แผนที่ดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ปราสาทตาเมือนธม รวมถึงปราสาทใกล้เคียงอย่าง ตาเมือนโต๊ด และ ตากระเบย์ ตั้งอยู่ใน จ.อุดรมีชัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเขมรอย่างชัดเจน แถลงการณ์ระบุ
ปราสาทเหล่านี้สร้างโดยกษัตริย์เขมรและตั้งอยู่ในเขต จ.อุดรมีชัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นดินแดนของกัมพูชาตามสนธิสัญญา การที่ไทยอ้างสิทธิ์โดยใช้แผนที่ฝ่ายเดียวและการขึ้นทะเบียน มองว่าเป็นการขัดต่อกรอบความร่วมมือและอาจนำไปสู่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมของกัมพูชายังแสดงความกังวลว่า การกล่าวอ้างของ น.ส.แพทองธาร อาจมีเป้าหมายเพื่อ กระตุ้นกระแสชาตินิยม ภายในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี แถลงการณ์ระบุว่า วัฒนธรรมควรเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจและความสามัคคีระหว่างประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งหรือการเมืองระดับภูมิภาค เรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมของไทยยึดมั่นใน หลักการสากล และเคารพต่อความจริงทางประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ กัมพูชายังวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในข้อพิพาทอาจสะท้อนถึง การขาดความเข้าใจ ในบทบาทของผู้นำด้านวัฒนธรรม ผู้นำด้านวัฒนธรรมควรส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือ ไม่ใช่สร้างความตึงเครียดด้วยข้อกล่าวอ้างที่ขาดหลักฐาน แถลงการณ์ระบุ พร้อมแนะนำให้ประเด็นนี้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทูตและการอนุรักษ์วัฒนธรรม
ในแถลงการณ์จากฝั่งกัมพูชา ยังระบุว่า เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2568 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อขอให้ตัดสินข้อพิพาทเรื่องปราสาทตาเมือนธมอย่างเป็นทางการ โดยย้ำว่า การดำเนินการนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการใช้ แนวทางกฎหมาย และ การทูต เพื่อปกป้องอธิปไตยและมรดกทางวัฒนธรรมของตน
ขณะที่กัมพูชาเลือกช่องทางสันติ ไทยกลับดำเนินการผ่าน แถลงการณ์สื่อและการแสดงกำลังทหาร
กัมพูชาเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมของไทย แสดงความรับผิดชอบ โดยเคารพต่อความจริงทางประวัติศาสตร์และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมถึง MoU 2543 และสนธิสัญญา 2447-2450 "ผู้นำด้านวัฒนธรรมควรมีบทบาทในการลดความตึงเครียด ไม่ใช่เพิ่มความขัดแย้ง" แถลงการณ์ระบุ
อ่านข่าวอื่น :
เด้ง 5 เสือ สน.บางเขน - คุมส่งฟ้องศาล 72 นักพนันบ่อนสะพานใหม่