'ทรัมป์' เตรียมส่งข้อเสนออัตราภาษีใหม่ ให้คู่ค้า 12 ประเทศ วันจันทร์นี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เผยว่า ได้ลงนามในจดหมายที่จะส่งให้กับคู่ค้า 12 ประเทศ โดยเป็นจดหมายที่ระบุถึงอัตราภาษีศุลกากรของสินค้านำเข้าที่ประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญ ซึ่งข้อเสนอที่ให้สิทธิประเทศคู่ค้าเลือกได้ว่า “เอาหรือไม่เอา” นั้น จะส่งให้ในวันจันทร์ (7 ก.ค.)
ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ขณะเดินทางไปยังนิวเจอร์ซี และปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ 12 ประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่เขาบอกว่าจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนในวันจันทร์
ราวสามเดือนที่แล้ว ทรัมป์ได้ประกาศเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าพื้นฐานที่ 10% และเก็บภาษีเพิ่มเติมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบางประเทศถูกเรียกเก็บสูงถึง 50% ในเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ต่อมาทรัมป์ได้ระงับการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงไว้ และเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ ลดลงมาเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ประเทศคู่ค้า มีเวลาเจรจาข้อตกลงการค้ามากขึ้น
แต่การผ่อนปรนอัตราภาษีนี้จะสิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. และทรัมป์เผยเมื่อเช้าวันศุกร์ (4 ก.ค.) ว่า อัตราภาษีอาจสูงขึ้นอีก โดยอาจสูงถึง 70% และส่วนใหญ่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค.
“ผมได้ลงนามในจดหมายบางฉบับและจะส่งไปในวันจันทร์ ราวๆ เที่ยง” ทรัมป์กล่าว และว่า แต่ละประเทศมีจำนวนเงินที่แตกต่างกัน อละมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน
เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ ทรัมป์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้สั้นๆ ว่า “การส่งจดหมายให้นั้นดีกว่า … ง่ายกว่ามาก” แต่ไม่ได้พูดถึงการคาดการณ์ของตนเองว่าจะมีดีลการค้าบางส่วนที่สามารถบรรลุได้ก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. หรือไม่
ในตอนแรกทรัมป์และทีมผู้ช่วยระดับสูงในการเจรจาการค้า กล่าวว่า พวกเขาจะเจรจาอัตราภาษีกับหลายประเทศ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐกลับรู้สึกไม่พอใจกระบวนการดังกล่าว หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเจรจาการค้าซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับคู่ค้ารายใหญ่ รวมถึงญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู)
การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของทำเนียบขาวสะท้อนถึงความท้าทายในการบรรลุข้อตกลงการค้า ตั้งแต่เรื่องภาษีศุลกากรไปจนถึงอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น การห้ามการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องรีบเร่ง เพราะใกล้หมดเวลาแล้ว
ขณะที่ข้อตกลงการค้าในอดีตส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาหลายปีในการเจรจาจึงจะเสร็จสมบูรณ์
ตอนนี้สหรัฐสามารถเจรจาการค้าได้สำเร็จกับแค่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ ข้อตกลงการค้ากับอังกฤษ ที่บรรลุเมื่อเดือนพ.ค. โดยจะคงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากอังกฤษไว้ที่ 10% และบางภาคส่วนจะได้รับเงื่อนไขพิเศษ เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์เครื่องบิน
ขณะที่ ข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม สหรัฐจะลดอัตราภาษีสินค้าเวียดนามหลายรายการลงเหลือ 20% จากที่เคยขู่ไว้ว่าจะเรียกเก็บ 46% และสินค้าของสหรัฐจำนวนมากจะได้รับอนุญาตให้เวียดนามนำเข้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษี หรือภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเป็นศูนย์
ส่วนข้อตกลงที่คาดว่าจะบรรลุร่วมกับอินเดียยังไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันนักการทูตของอียูก็เผยเมื่อวันศุกร์ว่า ยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาการค้ากับรัฐบาลทรัมป์ได้ และตอนนี้พวกเขาอาจโฟกัสไปที่การคงสถานะการค้าเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีเพิ่ม
อ้างอิง: Reuters