ให้การบ้านเอกชนรับมือภาษี
“อิ๊งค์” เชื่อ “ภาษีทรัมป์” ยังมีโอกาส “พิชัย” แจกการบ้านภาคธุรกิจประเมินผลกระทบ เดดไลน์ส่ง 11 ก.ค. เอกชนใจชื้นหลังเห็นสัญญาณบวก “เผ่าภูมิ” รับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังแผ่ว บี้นโยบายการเงินเหยียบคันเร่ง หั่นอัตราดอกเบี้ย-คุมค่าบาท-ผ่อนเกณฑ์อัดฉีดสินเชื่อ “แบงก์ชาติ” คาดกดเศรษฐกิจไทยซึมยาวปีครึ่ง
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.วัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีมาตรการกำแพงภาษีที่สหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีไทย 36% ในวันที่ 1 ส.ค.ว่า รายละเอียดเรื่องนี้ต้องถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้คุยกันกรณีเรื่องของจดหมายที่ส่งมา ยืนยันว่าการเจรจาทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้เจรจา และตอบกลับไปยังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากถามความคิดเห็นส่วนตัวของตน ในความเห็นของประชาชนคนหนึ่ง คิดว่ายังมีโอกาสในเรื่องนี้อยู่ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดขอให้สอบถามจากนายพิชัย
ที่กระทรวงการคลัง นายพิชัยเปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และภาคธุรกิจที่มีการทำธุรกิจและส่งออกไปยังสหรัฐว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลลัพธ์จากมาตรการภาษีของสหรัฐว่าจะออกมาทางไหนบ้าง ซึ่งยืนยันว่ามีการประเมินในหลายทาง ทั้งผลลัพธ์ที่ดี ผลลัพธ์ที่ดีปานกลาง เป็นต้น และหลังจากนั้นต้องมาคิดวิธีว่าเรื่องนี้จะกระทบกับใครบ้าง
โดยได้มอบการบ้านให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปประเมิน เนื่องจากลักษณะธุรกิจมีความแตกต่างกัน ดังนั้นปัญหาที่แต่ละกลุ่มจะได้รับจะต่างกันออกไปด้วย เมื่อทำการบ้านเรียบร้อยแล้วให้ส่งกลับมา เพื่อกระทรวงการคลังจะได้รู้ว่าควรจะกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลืออย่างไร และอะไรบ้าง โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังได้มีการคิดไว้แล้วว่าจะมีมาตรการไหน และเครื่องมืออะไรที่จะเหมาะกับใครบ้าง ซึ่งเบื้องต้นจะมีการส่งการบ้านกลับมาที่ตนในวันศุกร์ที่ 11 ก.ค.นี้ และถ้าข้อมูลยังไม่เพียงพอสามารถเรียกมาคุยกันใหม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับการนัดหารือของรัฐบาลที่บ้านพิษณุโลก แต่ยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดก่อนวันที่ 31 ก.ค.นี้อย่างแน่นอน
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากหารือเบื้องต้นแล้ว แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่รู้สึกสบายใจมากขึ้น และมองเห็นแนวโน้มหรือสัญญาณที่ดี พร้อมทั้งให้กำลังใจทีมไทยแลนด์ในการทำงานครั้งนี้ว่า “สู้ๆ”
ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อาจจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรก จึงต้องเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อโอบอุ้มการเติบโต โดยทั้งนโยบายการคลังและการเงินจะต้องเหยียบคันเร่งไปพร้อมๆ กัน
ส่วนถามว่าสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มหรือไม่นั้น เรื่องนี้อยู่ที่การพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เช่นเดียวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งเรื่องนี้มีผลโดยตรงต่อภาคการส่งออก นอกจากนี้นโยบายการเงินไม่ได้มีแค่เรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการกระจายเม็ดเงิน กระจายสินเชื่อ กระจายสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ซึ่งหมายรวมถึงการทำให้เงื่อนไขต่างๆ ผ่อนปรน ทำให้สถาบันการเงินสามารถมีแรงจูงใจในการกระจายสินเชื่อและสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ
รมช.การคลังกล่าวถึงการเจรจาภาษีสหรัฐว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทำงาน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลต้องทำให้ดีที่สุด จดหมายจากสหรัฐยังไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราต้องทำงานกันหนักขึ้น โดยในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะมีการปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีไทยปี 2568 อีกครั้ง โดยยังต้องรอดูว่าบทสรุปสุดท้ายแล้วตัวเลขภาษีสหรัฐจะออกมาที่เท่าไหร่
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลยังมีงบประมาณอีกราว 4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจากการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท โดยงบที่เหลือนี้ต้องมาดูถึงผลกระทบและผลสุดท้ายของเรื่องภาษีสหรัฐว่าจะรุนแรงขนาดไหน และเม็ดเงินที่เหลือนี้จะกันไว้ลงไปช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง
วันเดียวกัน นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า หากพิจารณามิติความรุนแรงและมิติระยะเวลา จะเห็นว่าช็อกจากภาษีศุลกากร (Tariffs) แตกต่างกันกับช็อกในรอบการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่มีความรุนแรงระยะสั้น และเป็นหลุมดิ่งลง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างชะงักงั้น แต่ช็อกจากเรื่องภาษีสหรัฐครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะมีการพูดถึงและรับรู้การปรับขึ้นภาษีมาสักระยะแล้ว ซึ่งช็อกนี้จะมีระยะเวลาทอดยาวไปถึงปี 2569 ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่มองไปข้างหน้า ธปท.พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรองรับ
"กนง.ได้ประเมินฉากทัศน์ไว้หลากหลายมาก ซึ่งตัวเลข Tariffs จะออกมาเท่าไรนั้น ไม่สำคัญมาก หรือเศรษฐกิจรายไตรมาสจะขยายตัว -0.1% หรือ +0.1% เท่ากับทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเรามองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่ดี และแผ่วลง ซึ่งจีดีพีปี 2569 เรามองที่ 1.7% ชะลอลงพอสมควร และขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เพราะมีช็อกที่ทอดยาวเข้ามากระทบ เราไม่ตกเหวปีนี้ แต่ตกปีหน้า ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดการขอสินเชื่อใหม่ เพราะอุปสงค์ลดลง จึงต้องชั่งน้ำหนัก เพราะพื้นที่การทำนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจเข้าสู่ช็อกที่มีเยอะขึ้น การทำให้เศรษฐกิจมีความทนทานและยืดหยุ่น น่าจะดีกว่า” นายปิติระบุ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า หากดูจากประมาณการในปี 2568 และทอดยาวไปปี 2569 การขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่ 0.1% อยู่แล้ว โตค่อนข้างต่ำ โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้หรือไม่นั้น มี แต่ไม่ได้เอาเข้าไว้ใน base line เพราะโอกาสจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย จะต้องเป็นช็อกที่รุนแรงและมีขนาดใหญ่ ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น เป็นประเด็นที่ ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด
นางสาวบัณณรี ปัณณราช ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ครึ่งปีหลังคาดว่าจะชะลอตัวมาเหลือที่ 1.6% ส่วนปี 2569 อยู่ที่ 1.7% เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ที่จะมีการเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ไปอย่างน้อยอีกปีครึ่ง รวมทั้งคาดว่าการส่งออกจะลดลงรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และทำให้ครึ่งหลังของปี 2568 ติดลบ -4% และปี 2569 ติดลบต่อเนื่องที่ -2%
อย่างไรก็ดี ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ 2.3% โดยมีการขยายตัวที่ดีใกล้เคียง 3% ในช่วงครึ่งปีแรก และจะชะลอตัวรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% และมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1.พัฒนาการของการเจรจาการค้ากับสหรัฐ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 2.ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และ 3.ความตึงตัวของสินเชื่อในบางจุด ที่อาจะกระทบกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีมากกว่าที่คาด
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 0.5% ส่วนปี 69 อยู่ที่ 0.8% ซึ่งการที่เงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก ในขณะที่ราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด.