“บขส.” เปิดแผนเช่า 5 ปี ดันรถโดยสาร 311 คัน ปลดล็อคหนี้ 3 พันล้าน
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังงานวันคล้ายวันสถาปนาบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ครบรอบปีที่ 95 ว่า หลังจากบขส.ได้กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ซึ่งเป็นคนเดิมที่เคยรักษากรรมการผู้จัดการฯอยู่แล้ว ถือเป็นผู้ที่มีฝีมือที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กร โดยปี 2566 พบว่าช่วงเทศกาลสำคัญไม่พบปัญหาผู้โดยสารเดินทางตกค้าง ทำให้ในปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการบขส.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.4 แสนคน จากเดิมที่มีผู้ใช้บริการราว 8 หมื่นคน
“ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารคนใหม่เร่งดำเนินการหาเส้นทางเดินรถใหม่ รวมถึงระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) เพื่อรองรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ที่จะเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวเส้นทางใหม่ๆที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนจัดหารถโดยสารใหม่ จำนวน 311 คัน วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดหารถโดยสารในครั้งนี้เพื่อทดแทนรถโดยสารเดิมที่ให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้งานกว่า 15-30 ปี และเตรียมปลดระวาง กว่า 200 คัน
ขระเดียวกันการจัดหารถโดยสารนั้นมีบริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด เป็นคู่สัญญา ระยะเวลาเช่า 5 ปี โดยวันเริ่มต้นของสัญญาเช่ารถ จะนับตั้งแต่วันส่งมอบรถ เช่น รับมอบงวด 1 จำนวน 99 คัน สัญญาเริ่มวันที่ 9 ก.ย.2568 และมีอายุสัญญา 5 ปีจนสิ้นสุดสัญญา
ทั้งนี้การส่งมอบรถโดยสารใหม่ จำนวน 311 คัน แบ่งการส่งมอบเป็น 4 งวด ประกอบด้วย งวด 1 วันที่ 9 ก.ย.2568 จำนวน 99 คัน ,งวด 2 วันที่ 9 ต.ค.2568 จำนวน 95 คัน ,งวด 3 วันที่ 8 พ.ย.2568 จำนวน 76 คัน และงวด 4 วันที่ 8 ธ.ค.2568 จำนวน 41 คัน
สำหรับรถโดยสาร 311 คัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 VIP (ม.1 ก) ขนาด 12 เมตร จำนวน 24 ที่นั่ง จำนวน 28 คัน 2.รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1 พิเศษ (ม.1 พ) ขนาด 12 เมตร จำนวน 32 ที่นั่ง จำนวน 50 คัน และ 3.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 (ม.1 ข) ขนาด 12 เมตร จำนวน 36 ที่นั่ง จำนวน 233 คัน
นอกจากนี้รถโดยสารที่ปัจจุบันให้บริการอยู่นั้น เป็นรถโดยสารที่เช่าจำนวน 165 คัน ซึ่ง บขส.จะทยอยส่งคืนตามสัญญาเช่า และจัดซื้อรถโดยสารเอง ประมาณ 80 คัน โดยแบ่งประเภทตามสภาพรถ เพื่อประเมินขายและปรับปรุงให้บริการ
ทั้งนี้รถโดยสารที่ บขส.ทำสัญญาเช่ามีอายุ 5 ปี ยี่ห้อ MAN (เอ็มเอเอ็น) เป็นรถโดยสารสัญชาติเยอรมัน ใช้เชื้อเพลิงดีเซล มีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทันสมัย ใช้เกียร์ออโต้ ช่วยประหยัดพลังงานลดลง 20 -30% และได้มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับรถโดยสารที่ได้รับการยอมรับด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับสัญญาเช่ารถโดยสารใหม่นั้น เป็นสัญญาเช่าที่ครอบคลุมรวมถึงการซ่อมบำรุงและเป็นลักษณะคิดค่าเช่าตามการใช้งานจริง
จากผลการศึกษาพบว่าจะช่วยให้ บขส.ประหยัดค่าดำเนินงานมากขึ้น เพราะไม่ต้องแบกรับค่าซ่อมบำรุงที่มีเฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหากคำนวณค่าเช่ารวมค่าซ่อมบำรุง พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคันต่อวัน
นอกจากนี้การเช่ารถโดยสารในลักษณะนี้ทำให้ บขส.สามารถรู้ต้นทุนและกำไรที่เกิดขึ้นต่อวันได้ทันที และทำให้บริหารค่าใช้จ่ายได้ เพราะมีต้นทุนเดียวที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนพนักงานขับรถและบริการต่างๆ ซึ่งจากการคำนวณตัวเลขแล้ว
“บขส.เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้องค์กรมีกำไรเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 300 – 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหักลบหนี้สะสมที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบัน บขส.มีหนี้สะสมอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท
จากแผนดำเนินงานที่ปรับเป็นการเช่ารถโดยสารทั้งหมด และการหารายได้นอกเหนือจากการเดินรถ ทั้งส่วนของการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีขนส่งและบริการขนส่งพัสดุ จะทำให้ บขส.สามารถล้างหนี้สะสมที่มีอยู่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี” นายอรรถวิท กล่าว
นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการเพิ่มรายได้ของบขส.นั้น หลังจากเข้ามารับตำแหน่งนี้ตั้งเป้าในองค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,500 ล้านบาท ภายใน 2 ปี แบ่งเป็น รายได้จากการเดินรถ 2,500 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บค่าสถานีต่างๆและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 500 ล้านบาท
และรายได้จากการขนส่งพัสดุ 500 ล้านบาท โดยเป็นการขยายจุดรับพัสดุทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนการจัดทำระบบที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดีจากเดิมพบว่าบขส.มีรายได้อยู่ที่ 1,998 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการเดินรถ 1,200 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บค่าสถานีต่างๆและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 500 ล้านบาท และรายได้จากการขนส่งพัสดุ 200 ล้านบาท