หั่นเป้า “ยอดออกหุ้นกู้” ปีนี้เหลือ 8.0 แสนลบ. หลังครึ่งแรกซบ ลดลง -19.3%... ด้าน “เงินต่างชาติ” ครึ่งปีหลัง ยากประเมิน แม้ครึ่งแรก “ซื้อสุทธิ” กว่า 3.2 หมื่นลบ. !!!
Fun of Funds: “การเจรจาภาษีการค้า” สหรัฐของไทยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสรุปทันเส้นใต้วันที่ 9 ก.ค. 25 นี้หรือไม่
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ โดยเฉพาะการหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่ทั่วโลกยังหวั่นใจว่าพร้อมจะปะทุรอบใหม่ได้ทุกเมื่อ
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของไทยขยายตัวชะลอลง ทำให้ “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ในช่วงครึ่งแรกปี25 ขยายตัวได้เล็กน้อย +1.1% จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ
ในขณะที่ภาคเอกชนมี “การออกหุ้นกู้” ลดลง -19.3% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับเป้าหมาบการออกหุ้นกู้ปีนี้ลงเหลือ 8.0 แสนล้านบาท (เดิม 8.5-9.0 แสนล้านบาท)
ส่วน“นักลงทุนต่างชาติ” ยังคง “ซื้อสุทธิ” ในช่วงครึ่งปีแรกกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตา “ปัจจัยต่างประเทศ” ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยสหรัฐลงช้า, Spread ดอกเบี้ยไทย-สหรัฐห่าง ที่จะเป็นปัจจัยกำหนด“Fund Flow” นั่นเอง
ภาพรวม “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ในช่วงครึ่งแรกปี25 เป็นยังไงนั้น ทางทีมงาน ‘โต๊ะกองทุน Wealthy Thai’ มีข้อมูลที่น่าสนใจมาอัปเดตให้ฟังกัน
“ต่างชาติ” ยังซื้อสุทธิ “ตราสารหนี้ไทย” ครึ่งปีแรกกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท…ส่วนทิศทางครึ่งปีหลังยากประเมิน
โดย“ดร.สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) บอกว่า สิ้นไตรมาส2/25 มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยอยู่ 17.3ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1%ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก คิดเป็น 93% ของ GDP แซงหน้า “ตลาดหุ้นไทย” ที่ 73% GDP ในขณะที่ “สินเชื่อแบงก์” ยังคงเป็นเสาหลักอยู่ที่ 99% GDP
ช่วงครึ่งแรกปี25 “นักลงทุนต่างชาติ” กลับมา “ซื้อสุทธิ” ตราสารหนี้ไทยจำนวน 32,331ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือนม.ค. จากนั้นเป็นการเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.พ. – เม.ย. รวม 79,240 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือน พ.ค. - มิ.ย. รวม 34,921 ล้านบาท
ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส2/25 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.1 ปี ลดลงเล็กน้อยจาก 8.7 ปี เมื่อสิ้นปี24
(ดร.สมจินต์ ศรไพศาล)
“ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งแรกปี25 ก็มีทั้งซื้อ-ทั้งขาย และมาขายออกในช่วง 2เดือนก่อนจบครึ่งปี ทำให้ทิศทางของเงินทุนต่างชาตินั้น ยากจะคาดการณ์ได้ในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ขึ้นกับหลายปัจจัยด้วยกัน ในปี25 นี้จึงแนะนำให้จับตาปัจจัยต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งดอกเบี้ยสหรัฐลงช้า, Spread ดอกเบี้ยไทย-สหรัฐห่างเป็นต้น ที่จะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของ Fund Flow ในปีนี้ แต่ที่แน่นอนจะไม่กระทบต่อภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างแน่นอน เพราะสัดส่วนของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยมีไม่มากเพียง 5.2% เท่านั้น”
+++กราฟฟิกแปะ (ต่างชาติ)+++
“หุ้นกู้” ครึ่งแรกปี25 มียอดออก 3.99 แสนลบ. ลดลง -19.3%…พร้อมหั่นเป้าปีนี้เหลือ 8.0 แสนลบ.
ในส่วนของตลาดหุ้นกู้นั้น “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) บอกว่า “ตลาดหุ้นกู้” ในกลุ่มเรทติ้ง A ขึ้นไปยังคงขายได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ BBB ลงไปและ “High Yield” นั้น ขายได้ยากขึ้น เพราะนักลงทุนเอง “ระมัดระวัง” มากขึ้น ภาพรวมการออกหุ้นกู้ระยะยาวครึ่งแรกปี25 อยู่ที่ 398,820ล้านบาทลดลง -19.3% เป็นการลดลงของทั้งกลุ่ม “Investment Grade” และกลุ่ม “High Yield” โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy Property และ Finance ตามลำดับ
(อริยา ติรณะประกิจ)
“ช่วงครึ่งหลังปี25 มี ‘หุ้นกู้ระยะยาว’ครบกำหนด 414,810ล้านบาท กว่า 88% อยู่ในกลุ่ม Investment Grade โดยจะครบมากสุดในQ4ประมาณ 2.20แสนล้านบาท จากภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว เราได้ปรับเป้าคาดการณ์ยอดออกหุ้นกู้ในปี25 ลงเหลือ 8 แสนล้านบาท (เดิม 0.85 – 0.90 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตามหากทิศทางดอกเบี้ยปรับตัวลงมาก ก็อาจทำให้มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน”
“ช่วงครึ่งแรกปี25 มีหุ้นกู้ ‘Default’ 4 บริษัท รวม 2,337ลบ. และ ‘เลื่อนชำระหนี้’(Delay) 14 บริษัท รวม 17,540ลบ. (มี 11 บริษัท เพิ่งขอเลื่อนเป็นครั้งแรก) ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแต่ธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีการปรับตัวไปก่อนหน้าแล้ว ก็คงต้องจับตาดูใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามในกลุ่ม ‘High Yield’ เองคงต้องมองหาช่องทางอื่นในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะขายได้ยากขึ้น หลังนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น ไปเน้นคุณภาพแม้จะได้ผลตอบแทนลดลงก็ตาม”
ภาพรวม “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ครึ่งแรกปี25 ที่ผ่านมานั้น ยังคงทรงตัวท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รุมเร้า สะท้อนผ่าน “ยอกออกหุ้นกู้” ที่ลดลง -19.3% ได้เป็นอย่างดี และทำให้ต้องปรับเป้าหมายคาดการณ์ยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ลงเหลือ 8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม “ตลาดหุ้นกู้” ยังไม่ได้หายไปไหนและยังเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่สนใจอยู่นั่นเอง