รู้แล้ว ทำไมรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เมารถได้ง่ายกว่ารถน้ำมันปกติ
แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะเงียบ นุ่มนวล และถูกยกย่องว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่หลายคนกลับพบว่า เมื่อเปลี่ยนจากรถน้ำมันมานั่งรถไฟฟ้า กลับรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ หรือแม้แต่เสียการทรงตัว ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้มาก่อน งานวิจัยล่าสุดเผยว่า อาการเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับพลังแม่เหล็กหรือระบบไฟแรงสูงของรถ แต่เป็น “สมองของเรา” ที่ยังปรับตัวไม่ทันกับลักษณะการเคลื่อนไหวของรถไฟฟ้าต่างหาก
ดร.วิลเลียม เอมอนด์ (Dr. William Emond) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Belfort-Montbéliard ประเทศฝรั่งเศส อธิบายว่า สมองของมนุษย์จดจำการเคลื่อนไหวของรถน้ำมันผ่านเสียงเครื่องยนต์ การสั่นสะเทือน และแรงเร่งต่าง ๆ แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าที่ไร้เสียง ไร้แรงสั่น และมีการเร่ง/เบรกที่ไม่เหมือนเดิม สมองจึง “เสียจังหวะ” ไม่ทันคาดการณ์ ทำให้เกิดอาการเมารถ
อีกจุดที่มีผลมากคือระบบเบรกแบบ regenerative braking ของรถไฟฟ้า ซึ่งเมื่อผู้ขับถอนคันเร่ง รถจะชะลอทันทีเพื่อนำพลังงานกลับไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ ต่างจากรถน้ำมันที่มักปล่อยให้รถ “ไหล” อย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาของ InsideEVs ปี 2024 ยืนยันว่า ยิ่งเบรกแรงหรือเบรกบ่อยเท่าไร อาการเมารถในผู้โดยสารก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
เพื่อลดอาการดังกล่าว นักวิจัยแนะนำให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้าเพิ่ม “สัญญาณเตือนล่วงหน้า” เพื่อให้สมองผู้โดยสารได้เตรียมตัว เช่น หน้าจอที่แสดงทิศทางการเคลื่อนไหว ไฟ ambient ที่เปลี่ยนสีก่อนเร่ง/เบรก หรือเบาะที่สั่นเบาๆ ก่อนเปลี่ยนจังหวะ ทุกสิ่งเหล่านี้ช่วยให้สมองรับรู้ว่ากำลังจะเกิดการเคลื่อนไหว และลดอาการเวียนหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก soha