นักโบราณคดีพบรายละเอียดชีวิต ‘ชนชั้นสูง’ ในยุคจีนโบราณ
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 17 ก.ค. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีของจีนได้สืบสาวเรื่องราวชีวิตของชนชั้นสูงจากรัฐฉินในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ซึ่งมอบข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับลำดับชนชั้นทางสังคม ขนบธรรมเนียมการรับประทานอาหาร และการบูรณาการทางวัฒนธรรมในยุคจีนโบราณ
วารสารนานาชาติเฮอริเทจ ไซแอนซ์ (Heritage Science) เผยแพร่ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยที่นำโดยรองศาสตราจารย์ซ่างเสวี่ย มหาวิทยาลัยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ร่วมกับสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และสถาบันโบราณคดีมณฑลส่านซี
ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบหลุมศพชนชั้นสูง 2 หลุม แบ่งเป็นหลุมผู้ชายและหลุมผู้หญิง รวมถึงสถานที่ฝังศพเหยื่อบูชายัญ 2 ราย ในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งใช้เทคนิคขั้นสูงอย่างการวิเคราะห์ไอโซโทปเสถียร (stable isotope) ที่มีความแม่นยำสูง และการตรวจสอบเมล็ดแป้งจากคราบหินปูนในช่องปาก
การศึกษาพบว่าชายชนชั้นสูงรับประทานข้าวฟ่างเป็นอาหารหลัก และมีสัดส่วนการรับประทานเนื้อสัตว์สูงกว่าเหยื่อบูชายัญและสามัญชนในสมัยนั้นอย่างมาก ซึ่งนี่สนับสนุนความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับลำดับชนชั้นทางสังคมในยุคจีนโบราณที่ว่าผู้รับประทานเนื้อสัตว์เป็นชนชั้นสูง
ส่วนหญิงชนชั้นสูงมีวิถีการรับประทานอาหารเป็นเอกลักษณ์ เธอรับประทานอาหารทำจากข้าวสาลีหรือข้าวเป็นหลักในวัยเด็ก และปรับตัวมารับประทานอาหารที่มีข้าวฟ่างเป็นหลักในวัยผู้ใหญ่ แต่ยังคงมีสัดส่วนการรับประทานเนื้อสัตว์ในระดับค่อนข้างต่ำ
การวิเคราะห์บ่งชี้ว่าหญิงชนชั้นสูงคนนี้ใช้ชีวิตวัยเด็กในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศอุ่นชื้นกว่า โดยคณะนักวิจัยอนุมานว่าเธอน่าจะเป็นเจ้าสาวชนชั้นสูงจากรัฐศักดินาทางตะวันออกหรือตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการแต่งงานทางการเมืองในยุคชุนชิวหรือยุควสันตสารท (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
การศึกษาพบว่าเด็กชนชั้นสูงในสมัยรัฐฉินหย่านมตอนอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกตามคัมภีร์โบราณ “หลี่จี้” หรือคัมภีร์แห่งพิธีกรรม (Book of Rites) ของจีน ขณะที่เหยื่อบูชายัญหย่านมเร็วกว่าอย่างมาก ซึ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันตามสถานะทางสังคม
นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารในวัยหนุ่มสาวยังสอดคล้องกับบทบาททางสังคม โดยชายชนชั้นสูงรับประทานเนื้อสัตว์ในระดับสูงหากใกล้ถึงช่วงอายุรับราชการทหาร ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับกิจกรรมการต่อสู้ ส่วนหญิงชนชั้นสูงหันมารับประทานอาหารท้องถิ่นหลังจากอายุประมาณ 7 ปี
อนึ่ง การวิจัยนี้ไม่เพียงถอดรหัสทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการรับประทานอาหารในยุคจีนโบราณ แต่ยังนำเสนอระเบียบวิธีการใหม่ในการศึกษาวิถีชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนด้วย