ศอ.บต.-โรงพยาบาลธัญญารักษ์ใช้อาชีวบำบัดส่งเสริมอาชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดแพทย์เผยกินน้ำกระท่อมปริมาณเข้มข้นจะออกฤทธิ์คล้ายเฮโรอีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. พร้อมด้วย นายอิบรอเหม เบ็ญนา นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ ศอ.บต. ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะ นายแพทย์ สุนทรพจน์ ชูช่วย รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี เพื่อปรึกษาหารือและวางมาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและติดตามการดำเนินงาน การในการฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ติดยาเสพติด โดยการใช้อาชีวบำบัด เพื่อให้เยาวชนที่ได้รับการบำบัดยาเสพติด ได้มีความรู้ ความสามารถ ในด้านอาชีพต่าง ๆ สามารถนำไปประกอบหาเลี้ยงชีพได้ เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว และเป็นการคืนคนดีสู่สังคมในอนาคตต่อไป
สำหรับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี มีการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด โดยการใช้ยาบำบัด จิตบำบัด สังคมบัดบัด ศาสนาบำบัด และ การฟื้นฟูสมรรถภาพ เมื่อผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น ทางโรงพยาบาลก็จะเข้าสู่การใช้ อาชีวะบำบัด เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถในด้านอาชีพให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำแปลงผัก การพิมพ์ลายผ้า งานก่อสร้าง ช่างเชื่อม งานปูนปั้นไม้เทียม เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้ารับการฝึกอาชีวบำบัดเป็นจำนวนมาก และนำไปประกอบอาชีพได้จริงหลายราย นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามผู้ที่เข้ารับการบำบัดที่หายจากการติดยาเสพติดและกลับเข้าสู่ชุมชนต่าง ๆ โดยมีนักสังคมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ลงพื้นที่ติดตามว่าผู้ที่เข้ารับการบำบัดแล้ว กลับไปเสพยาเสพติดอีกหรือไม่ โดยมีการติดตามเป็นเวลา 1 ปี เพื่อหาทางป้องกันไม่กลุ่มบุคคลที่เข้ารับการบำบัด กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
ขณะที่ทางด้าน นายแพทย์สุนทรพจน์ ชูช่วย รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ได้กล่าวถึงพิษภัยของการนำใบกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดว่า ใบกระท่อมเอง สังคมยังคงมีความสับสนบางอย่างอยู่ ว่าเป็นยาจริงหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่า เป็นยาได้จริง มีตำรับยาไทย ที่มีส่วนประกอบของใบกระท่อม แต่เพียงว่า ปริมาณที่ใช้นั้นเพียงนิดเดียว ใช้เพียงไม่กี่ใบ แต่เยาวชนสมัยนี้ กลับนำใบกระท่อมมาต้ม โดยใช้ปริมาณใบกระท่อมต่อครั้งจำนวนมาก บางครั้งใช้ถึงครึ่งกิโลกรัม ในการต้มต่อครั้ง ทำให้เป็นการดึงสารสกัดเข้มข้นมากจนเกินไป ทำให้เกิดอาการมึนเมา และผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาด้านจิตเวช เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้ดื่มน้ำกระท่อมเข้มข้นจะเกิดอาการด้านจิตเวชประมาณ 3 – 5 % เพราะกินมากเกินไป ก็ก่อให้เกิดปัญหา และอีกอย่างที่พบก็คือ โรคไต ผู้ป่วยวัยรุ่นบางราย มาด้วยอาการไตวายฉับพลัน จากการกินน้ำใบกระท่อม ที่มากเกินกว่าจะกินเป็นยา มันก็เป็นยาเสพติดได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาในทุก ๆ ด้าน เพื่อนำมาสกัดเป็นยาตามมาตรฐาน ตามปริมาณที่สามารถ นำมารับประทานเป็นยาได้ หากมีการรับประทานจำนวนมากเกินไป จะออกฤทธิ์คล้ายกับเฮโรอีน ดังนั้นอาการถอนพิษต่าง ๆ ค่อนข้างรุนแรง จึงควรนำมาใช้ในทางการแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสม
ทางด้านผู้ที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ได้กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะเข้ารับการรักษายาเสพติด ก็เนื่องจากว่า อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองในการใช้ชีวิต อีกทั้งครอบครัว ขอให้ตนเองเข้ามารักษาตัวที่นี่ ตอนแรกตนเองก็ปฏิเสธคิดว่าสามารถเลิกได้ แต่สุดท้ายก็เลิกไม่ได้ ครั้งสุดท้ายได้เห็นน้ำตาของแม่ ทำให้รู้สึกเสียใจและอยากเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะไม่รู้ว่าแม่จะอยู่กับเราได้นานเท่าไหร่ ถ้าวันหนึ่งแม่ไม่ได้อยู่กับเรา แล้วเรามาเลิกยาหลังจากที่แม่ไม่อยู่แล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไร จึงอยากจะเลิกยาเพื่อตัวเราเอง และเพื่อครอบครัว อย่างน้อยก็ให้แม่ได้เห็นว่า เราเลิกยาได้ จึงตัดสินใจมารักษาตัวที่นี่