รู้จัก ‘ชาวดรูซ’ ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชนวนความขัดแย้ง ‘ซีเรีย-อิสราเอล’
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ว่า “ชาวดรูซ” ถือกำเนิดขึ้นในอียิปต์ เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 โดยแตกแขนงมาจากนิกายอิสมาอีลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์
ชาวดรูซนับถือเทวนิยมองค์เดียว และเรียกตัวเองว่า “มูวาฮิดูน” หรือ “ยูนิทาเรียน” ซึ่งเป็นนิกายที่มีความลับอย่างยิ่ง และมีองค์ประกอบทางไสยศาสตร์ เช่น ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด
แหล่งข่าวระบุว่า ลัทธินี้กำเนิดมาจากอิทธิพลของคำสอนทางศาสนา และปรัชญาอีกหลายแขนง รวมถึงคำสอนของ “เพลโต” นักปรัชญาชาวกรีก ส่วนบางกิจกรรมทางศาสนายังสอดคล้องกับนิกายอิสลามอื่น ๆ
ก่อนสงครามกลางเมืองในซีเรียจะปะทุขึ้นเมื่อปี 2554 มีการคาดการณ์ว่า ชุมชนชาวดรูซมีจำนวนประมาณ 700,000 คน
ตามบันทึก “ศรัทธาดรูซ” โดยนักประวัติศาสตร์ นายซามี มาคาเร็ม ชาวดรูซอพยพไปยังตอนใต้ของซีเรีย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “จาบัล อัล-ดรูซ” ซึ่งหมายถึง “ภูเขาดรูซ” ในเมืองสไวดาของซีเรีย
ปัจจุบัน ชาวดรูซในซีเรียส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมืองสไวดา เมืองคูเนตราที่อยู่ใกล้เคียง และชุมชนเล็ก ๆ ในเขตชานกรุงดามัสกัส โดยเฉพาะในจารามานาและซาห์นายา ซึ่งเคยเกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนาเมื่อต้นปีนี้
บุคคลมีชื่อเสียงที่เป็นชาวดรูซ หรือมีเชื้อสายดรูซ ได้แก่ นางอามาล อลามุดดิน คลูนีย์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ภรรยาของนายจอร์จ คลูนีย์ และนายไอย์มาน ซาฟาดี รมว.การต่างประเทศของจอร์แดน
แม้พวกเขาจะมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ชาวดรูซก็มีบทบาทสำคัญ และในบางครั้งก็เป็นผู้นำทางการเมือง และสังคมในตะวันออกกลาง.
เครดิตภาพ : AFP