นักวิทย์จีนสังเคราะห์ DNA มนุษย์ ถ่ายโอนข้ามสายพันธุ์ในตัวอ่อนหนู
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
เทียนจิน, 17 ก.ค. (ซินหัว) — ทีมนักวิจัยจีนสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในสาขาชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยการสังเคราะห์และประกอบดีเอ็นเอของมนุษย์อย่างแม่นยำ และสามารถถ่ายโอนดีเอ็นเอข้ามสายพันธุ์สำเร็จ ซึ่งไม่เพียงเป็นการยกระดับเทคโนโลยีการสังเคราะห์จีโนมมนุษย์ แต่ยังเปิดแนวทางใหม่ในการรักษาความผิดปกติทางพันธุกรรมในอนาคตอีกด้วย
งานวิจัยดังกล่าวจัดทำโดยห้องปฏิบัติการหลักแห่งรัฐด้านชีววิทยาสังเคราะห์ประจำมหาวิทยาลัยเทียนจิน และเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมธอดส์ไม่นานมานี้ ในหัวข้อ “การประกอบและถ่ายโอนดีเอ็นเอมนุษย์สังเคราะห์ขนาดเมกะเบสเข้าสู่ตัวอ่อนหนูระยะแรก”
ทีมวิจัยนำโดยหยวนอิงจิ้น นักวิชาการแห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่าซินไนซ์ (SynNICE) ซึ่งเป็นการประกอบดีเอ็นเอจีโนมมนุษย์สังเคราะห์ภายในยีสต์ จากนั้นแยกนิวเคลียสของยีสต์ที่มีโครโมโซมครบถ้วน โดยใช้เทคนิคการแยกนิวเคลียสเพื่อสกัดโครโมโซมหรือที่เรียกว่าไนซ์ (NICE) จากนั้นจึงนำนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอสังเคราะห์อยู่ฉีดเข้าในตัวอ่อนหนูระยะแรก
การวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ส่วนเฉพาะของจีโนมมนุษย์ชื่อ AZFa ที่อยู่บนโครโมโซมวาย (Y) โดยบริเวณนี้มีความสำคัญต่อภาวะเจริญพันธุ์ของเพศชาย ซึ่งหากบริเวณนี้หายไป อาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากอย่างรุนแรง และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาทางการแพทย์
รายงานเผยว่านับเป็นครั้งแรกที่ทีมนักวิจัยสังเกตการถอดรหัสของดีเอ็นเอมนุษย์สังเคราะห์ภายในตัวอ่อนของหนู ซึ่งงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของเซลล์สามารถปรับเปลี่ยนจีโนมสังเคราะห์ได้อย่างไร และมีศักยภาพสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาชีวการแพทย์ในอนาคต