CGSI มองกลุ่มปิโตรเคมีไทย เป็นหนึ่งในเป้าของนโยบาย “anti-involution” ของจีน
CGSI มองกลุ่มปิโตรเคมีไทย เป็นหนึ่งในเป้าของนโยบาย anti-involution ของจีน
CGSI มองกลุ่มปิโตรเคมีของไทย ได้อานิสงส์นโยบาย anti-involution ของจีน จากความคาดหวังต่อการปรับสมดุลอุปทานให้เหมาะสม ลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัย หนุนราคาหุ้น อาจ outperform นานขึ้น
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า South China Morning Post รายงานข่าวว่า รัฐบาลจีนเริ่มหันมาใส่ใจกับภาวะ เน่ยจวน หรือ involution ซึ่งหมายถึงการแข่งขันอย่างหนักเป็นครั้งแรกในเดือนก.ค.67 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งบั่นทอนความสามารถทางการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่วันที่ 18 ก.ค.67 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ของจีนได้แถลงข่าวเพื่อให้แนวทางเกี่ยวกับมาตรการที่อาจนำมาใช้ปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม, ควบคุมอุปทานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัย ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 9 อุตสาหกรรม เช่น ทองแดง, อลูมิเนียมและเหล็ก เป็นต้น
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการที่จีนจะนำมาใช้ ต่อต้านภาวะเน่ยจวน (anti-involution) จะทำให้เกิดการปรับสมดุลของอุปทาน (supply rationalisation) ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างรุนแรงหรือไม่ แต่ฝ่ายวิเคราะห์ฯเชื่อว่า มาตรการเหล่านี้น่าจะทำให้จำนวนโครงการใหม่ลดลงหลังจากปี 71 โดยการดำเนินการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานของจีน (67-68) ทำให้ทั้งโรงงานเก่าและไม่มีประสิทธิภาพทยอยปิดตัวลง
นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการผลิตเคมีภัณฑ์ที่ใช้ถ่านหินยังถูกจำกัดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีของจีน (ฉบับที่ 15 ปี 69-73) ฝ่ายวิเคราะห์ฯเชื่อว่าการขออนุมัติโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์หรือเคมีภัณฑ์ชนิดอื่นจากรัฐบาลน่าจะทำได้ยากขึ้น เพราะจีนได้เปลี่ยนแนวทางจากที่มุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรม, อุตสาหกรรมไฮเทคและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
แต่เนื่องจากโครงการโอเลฟินส์ใหม่ในประเทศ (อนุมัติก่อนปี 68) เป็นโครงการขนาดใหญ่, มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและทันสมัย จึงเชื่อว่าจะยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่โครงการเปิดดำเนินงานล่าช้า หรือถูกระงับ (มีผลต่อสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน) ก่อนปี 71 ขณะเดียวกันโรงงานเคมีภัณฑ์ที่ทำกำไรได้น้อยกว่าอย่างการผลิตโอเลฟินส์จากเมทานอล, PVC (polyvinyl chloride) จากคาร์ไบด์และ PDH (propane dehydrogenation) มีอัตราการผลิตต่ำ ดังนั้นการควบคุมอุปทานของสินทรัพย์ที่มีผลขาดทุน จึงน่าจะไม่ช่วยให้สเปรดเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า ถึงแม้ข่าวข้างต้นน่าจะส่งผลต่อสเปรดเคมีภัณฑ์ไม่มากนักในปี 68-69 แต่ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีของไทยอาจ outperform นานขึ้น จากความคาดหวังต่อการปรับสมดุลอุปทาน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเกาหลีและจีน (ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 7-10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา)
อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ในกลุ่มนี้ เพราะกลไกการต่อต้าน เน่ยจวน ยังไม่ชัดเจน อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยน่าจะมี EBITDA อ่อนตัวในปี 68-69 ขณะที่มองว่าปัจจัยลบที่จะมาจากความต้องการพลาสติกที่เติบโตต่ำกว่าคาด ส่วน upside risk จะมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง
เรียบเรียง โดย จารุวรรณ เอี่ยมยิ่งพานิช
อีเมล์. charuwan@efinancethai.com
ดูข่าวต้นฉบับ