‘รักยุคใหม่’ ไร้การป้องกัน คุยกับ ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ถึงวิกฤตโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การแพร่ระบาดของโรคซิฟิลิส กลับมาเป็นที่พูดอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลน่าตกใจถึงยอดผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สูงขึ้น 6 เท่า ในรอบ 5 ปี
ความน่ากังวลของการระบาดรอบนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังน่าตกใจที่ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ระบาดหนักกลับมีอายุน้อยลง
รายการ HEADLINE โดยสำนักข่าว TODAY ชวนคุยกับ ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล เลขาธิการสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย และ อุปนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เพื่อไขข้อข้องใจว่า อะไรคือปัจจัยการแพร่ระบาดระลอกนี้ สถานการณ์น่ากังวลแค่ไหน และทางออกวิกฤติครั้งนี้คืออะไร
[ยอดใหม่พุ่ง 10,000 คน แต่ตัวเลขจริงอาจ ‘มากกว่า’ ที่คิด]
พญ.ศศิโสภิณ อธิบายว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา เช่น เชื้อเฮชไอวี เฮชพีวี เริม ซิฟิลิส หรือ หนองใน ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะผ่านการสอดใส่ผ่านช่องคลอด ทวารหนัก หรือ ปาก เท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับกับโรคติดต่ออื่นๆ อย่างโรคติดต่อทางเดินหายใจ
ความน่ากังวลของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศยังไม่น่ากลัวมากนัก เพราะติดต่อกันจากกิจกรรมจำเพาะและ ใกล้ชิดกันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พญ.ศศิโสภิณชี้ว่า ‘ไวรัสเฮชไอวี’ ยังคงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัวและอันตรายเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากสามารถพัฒนาไปสู่โรคเอดส์ ระยะสุดท้ายที่ทำลายภูมิคุ้มกันและเปิดช่องให้โรคฉวยโอกาสต่างๆ เข้ามา จนนำไปสู่การเสียชีวิต
ในส่วนของโรคซิฟิลิสที่กำลังระบาดหนักในช่วงนี้ ทางพญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า แม้ไม่รุนแรงเท่าไวรัสเฮชไอวี แต่ก็อันตรายถึงชีวิต เพราะหากไม่รักษา เชื้ออาจยังอยู่และแฝงตัวนาน 20-30 ปี ไร้การแสดงอาการ ก่อนลุกลาม จนทำลายระบบประสาทและสมองได้
เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคหนองใน ทั้งแบบแท้และเทียม ที่แม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็กระทบชีวิตประจำวันได้ เช่น การปวดท้องน้อย ในผู้หญิง จนนำไปสู่ภาวะการมีบุตรยาก
ตามข้อมูลจากพญ.ศศิโสภิณ และ สถิติจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเฮชไอวีของประเทศไทย ในปี 2567 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมราว 500,000 ราย และ อาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ พุ่งสูงถึง 10,000 คน ในปี 2568 หรือ
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง เฮชไอวี หรือหนองในที่มีการติดตามอยู่นั้นพุ่งสูงขึ้น แต่พญ.ศศิโสภิณ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขเหล่านั้น อาจไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง เพราะบางเคสอาจไม่มีการรายงานเข้าระบบด้วยปัจจัยหลายอย่าง
“ตัวเลขจริงๆ อาจเยอะกว่านี้ก็ได้ แต่ส่วนนึงไม่ได้รายงาน หรือ ส่วนนึงไม่ได้รับการวินิจฉัย ส่วนนึงอาจเป็นแล้วก็ไม่ได้มีอาการ ไม่ได้ไปพบแพทย์”
[‘รักอิสระแต่ไม่ปลอดภัย’ เมื่อใจถึง…แต่ไม่ถึงถุง]
การที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง
พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการรณรงค์ที่ลดน้อยลงหลังโควิด-19 ระบาด หรือแม้แต่ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ และขาดความตระหนักของประชาชนเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ จนนำไปสู่การป้องกันที่ไม่ถูกต้อง
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญและน่าสนใจ ที่พญ.ศศิโสภิณชี้ว่าทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง คือ ‘รูปแบบทางเพศที่เปลี่ยนไป’ ของคนในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่เดทได้ แค่ปลายนิ้วจากแอปหาคู่ หรือการมี One-night stand หรือ ความสัมพันธ์แบบคืนเดียว ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนค่านิยมที่ความผูกพันกับคู่นั้นลดลง
โดยข้อมูล ‘พฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย’ ปี 2567 จากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มากกว่า 7.7% มีเพศสัมพันธ์แบบ One-night stand และอีก 6.8% มีเพศสัมพันธ์จากคนในแอปหาคู่ จากผู้สอบถามมากกว่า 15,425 คน โดยตัวเลขเหล่านี้โดดเด่นเป็นพิเศษ ในกลุ่มวัยเรียนช่วงอายุ 15-21 ปี
นอกจากนี้ ในรายงานเดียวกัน เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลว่า มากกว่า 57.2% ของผู้สอบถาม ‘ไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ ใช้บางครั้ง’ เท่านั้น
โดยข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับ พญ.ศศิโสภิณ ที่เผยว่า การใช้ถุงยางอนามัยที่ลดลง กลายเป็น ‘รูปแบบทางเพศที่เปลี่ยนไป’ ของคนในสังคมสมัยใหม่ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น
“การที่ใช้ถุงยางอนามัยที่ลดลงเนี่ย ก็ทำให้จำนวนเคสมันเยอะขึ้น อย่างเวลาที่หมอดูคนไข้ที่มาตรวจเนี่ย พอคนไข้มาด้วยหนองใน ก็รู้เลยว่าไม่ใส่ถุงยาง”
ความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบใช้ยาเสพติด หรือ สารเคมีกระตุ้น (Chem-sex) เพื่อสร้างอารมณ์ เพิ่มความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ ก็ทำให้เกิดการหย่อนยานในการป้องกันเช่นกัน
พฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งผลกระทบหลายอย่าง อย่างเคสที่ พญ.ศศิโสภิณ พบในผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ ไม่สามารถตามตัวคู่นอนได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่เชื้อจะแพร่ระบาดไปสู่คนอื่นๆ และ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคม
นอกจากนี้ ในระดับบุคคลก็มีความน่ากังวลอื่น เช่น ผู้ป่วยบางรายที่รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หายแล้ว แต่กลับติดซ้ำอีก เพราะขาดการป้องกัน และเข้าใจผิดว่าสามารถรักษาหรือทายาได้เรื่อยๆ
พฤติกรรมเช่นนี้ไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แต่หากติดเชื้อซ้ำบ่อยครั้ง อาจนำไปสู่ ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อีกข้อน่ากังวลระดับบุคคล คือหลายกรณี อาจมีการติดต่อจาก ‘แม่สู่ลูก’ อย่างกรณีโรคเฮชไอวี หากผู้เป็นแม่ไม่ได้ฝากครรภ์และ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจติดต่อสู่ลูกสูงถึง 20-30% หรือ หรือหากเป็น โรคซิฟิลิส ก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ลูกเสียชีวิตได้
รวมไปถึง หากโรคระบาดหนักขึ้น อาจกระทบระบบสาธารณสุข ที่อาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมหาศาลเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อและ ในระดับประเทศ อาจกระทบระบบเศรษฐกิจ หากผู้ติดเชื้อจำนวนมากต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว
ในระดับสังคมนั้น พญ.ศศิโสภิณ ให้ความเห็นว่า อาจมีการตีตราผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่บ้าง แม้จะไม่รุนแรงเท่าในอดีตก็ตาม
“อาจเป็นทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องของระบบสาธารสุขของประเทศ เรื่องของการตีตรา เพราะงั้นมันก็มีหลายๆส่วนที่มันไม่ใช่แค่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มันก็มีปัญหาหลายๆอย่างตามมาเหมือนกัน”
นอกจากนี้พญ. ศศิโสภิณยังย้ำอีกครั้งว่า แม้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะไม่น่ากังวลว่าจะมีแพร่ระบาดหนักเท่าโรคติดต่ออื่นๆ เพราะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ
“ถ้าเราจำกัดได้ ควบคุมได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี” พญ.ศศิโสภิณกล่าว
[‘เกมรักยุคใหม่’ รับมือโรคติดต่อทางเพศอย่างไรให้รอด?]
พญ.ศศิโสภิณให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการใช้แนวทางในการรักษางและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นที่นิยม อย่าง การทานหรือฉีดยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ในการป้องกันเชื้อเฮชไอวี สำหรับผู้ยังไม่ติดเชื้อ รวมไปถึงยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) หรือยาต้านไวรัสเอชไอวีแบบฉุกเฉินที่ใช้ป้องกันหลังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวทางการป้องกันเปลี่ยนไป คือ ความไม่เชื่อมั่นในถุงยางอนามัย และ พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ป้องกันเพื่อเพิ่มอารมณ์ ที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การรณรงค์ในอดีต อย่าง ‘ถุงมีชัย’ ของคุณมีชัย วีระไวทยะ อาจไม่เพียงพอหรือได้ผลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้จะแนวทางมีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายวิธี แต่พญ.ศศิโสภิณย้ำว่า การทานยาป้องกันอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย อย่างการดื้อยา ทำการสวมใส่ถุงยาง ยังเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาด
“ในฐานะที่เป็นแพทย์ เราก็ยังอยากจะแนะนำว่าถุงยางอนามัยก็ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ดีที่สุด”
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและสื่อต่างๆ ชี้ตรงกันว่า โรคติดต่อทางเพศกำลังระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่น พญ. ศศิโสภิณจึงมองว่า ด้วยพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงและรวดเร็วขึ้นของวัยรุ่น การบรรจุ ‘เพศศึกษา’ ในระดับมัธยม อาจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในยุคที่ข้อมูลทางเพศเข้าถึงง่ายขึ้น
นอกจากนี้ พญ. ศศิโสภิณยังเน้นย้ำว่า รัฐต้องเร่งรณรงค์และปรับปรุงระบบเก็บข้อมูล รายงานปัญหาอย่างจริงจัง เพื่ออุดช่องว่าง ‘ความไม่รู้’ ในตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง จะเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุดและถูกกลุ่มเป้าหมาย
UN AIDS หรือ โครงการร่วมเอดส์แห่งสหประชาชาติ คือตัวอย่างที่ดี ในการจัดการปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างการรณรงค์ ‘ยุติเอดส์ให้หมดภายในปี 2030’ และมีการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง
ท้ายที่สุดนี้ การรณรงค์ก็เป็นดาบสองคมที่ต้องระมัดระวัง เพราะแม้จะช่วยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมในสังคมได้ดีขึ้น แต่อีกด้านก็อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าโรคสามารถรักษาหายขาดได้ จนละเลยการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไป
“อย่างเฮชไอวีเนี่ย ถึงแม้การรักษาส่วนใหญ่ก็คือการกินยาวันละเม็ดตลอดชีวิตนะคะ ยังไม่หายขาด การหายขาดอยู่ในระดับการวิจัย แต่การกินยานั้น ก็อาจมีผลข้างเคียงระยะยาวก็ได้นะคะ เราต้องมาติดตามแพทย์สม่ำเสมอ เราคงไม่อยากกินยาทุกวันตลอดชีวิต” พญ.ศศิโสภิณ กล่าวทิ้งท้าย