ทรัมป์ปิดดีลการค้าฟิลิปปินส์ เก็บภาษี 19% แลกกับการเปิดตลาดเสรี
สำนักข่าว CNN รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เเห่งสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขาและประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้า
ไม่นานหลังจากนั้น ทรัมป์ยังได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมของข้อตกลงกับอินโดนีเซียด้วย โดยข้อตกลงทั้งสองฉบับกำหนดให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 19% สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นภาษีที่ธุรกิจอเมริกันต้องจ่าย ขณะที่สินค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษี
การประกาศของทรัมป์เกี่ยวกับข้อตกลงกับฟิลิปปินส์มีขึ้นหลังจากเขาพบกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนในทันทีว่าผู้นำทั้งสองได้ลงนามในเอกสารอย่างเป็นทางการหรือไม่ และเช่นเดียวกับการประกาศข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายละเอียดเพียงเล็กน้อยในช่วงแรก
ข้อตกลงกับฟิลิปปินส์นับเป็นฉบับที่ 5 ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับข้อตกลงที่ทรัมป์ประกาศกับเวียดนามเมื่อต้นเดือนนี้ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังไม่ได้เปิดเผยสาเหตุว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ทรัมป์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นเมื่อเดือนเมษายนว่าจะมีข้อตกลงการค้าอีกหลายฉบับ หลังจากที่หยุดมาตรการภาษีแบบ “ตอบโต้” (reciprocal tariffs) อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืน โดยเน้นว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อตกลงมากกว่าปริมาณ
ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณต่อเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ โดยขู่ว่าจะเพิ่มภาษีในอัตราสูงขึ้นหลายรายการ ซึ่งรวมถึงอัตราที่สูงถึง 50% สำหรับประเทศคู่ค้า และภาษีนำเข้าทองแดง 50% สำหรับทุกประเทศ ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า
โดยจะยืนกรานกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคม ให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทำข้อตกลง มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับภาษีที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้นั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร ในห้อง The Oval Office (ห้องทำงานรูปไข่) ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงทางการค้ากับมาร์กอส แต่ทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงกันได้ในบางเรื่อง
CNN รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือว่าไม่ปกติ เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ที่ทรัมป์อ้างว่าได้บรรลุข้อตกลงด้วยนั้นมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับระดับที่ขู่ว่าจะบังคับใช้ในเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน สินค้าจากฟิลิปปินส์ถูกเก็บภาษีขั้นต่ำที่ 17% ในเดือนเมษายน ก่อนที่ทรัมป์จะระงับมาตรการเหล่านั้น เมื่อต้นเดือนนี้ เเละขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าจากฟิลิปปินส์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม
สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อาหารแปรรูป เครื่องจักร และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังฟิลิปปินส์มูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป
รายละเอียดข้อตกลงกับอินโดนีเซียถูกเปิดเผย
ทรัมป์ได้ประกาศข้อตกลงที่คล้ายกันกับอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกำหนดอัตราภาษีในระดับเดียวกัน และเมื่อวันอังคาร มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย โดยทรัมป์เขียนบน Truth Social
ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าขอประกาศข้อตกลงทางการค้ากับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมีประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ทรงเกียรติเป็นผู้แทนของอินโดนีเซีย
ทรัมป์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับมาตรการกำแพงทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff trade barriers) ซึ่งอินโดนีเซียตกลงจะแก้ไข มาตรการเหล่านี้รวมถึงการยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากรายได้บริการดิจิทัล เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์สตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดีย และการยกเลิกข้อกำหนดการตรวจสอบก่อนจัดส่งหรือการตรวจสอบยืนยัน สำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ
ในส่วนหลังนี้ เจ้าหน้าที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ระบบการตรวจสอบดังกล่าวสร้างภาระอย่างมากให้แก่เกษตรกรในการส่งออกสินค้า และการยกเลิกมาตรการเหล่านี้จะช่วยเปิดตลาดให้กับพวกเขา
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตกลงที่จะยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์กลางของสหรัฐฯ (US Federal Motor Vehicle Safety Standards) และยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ (critical minerals)
ก่อนหน้านี้สินค้าจากอินโดนีเซียเคยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 32% เป็นการชั่วคราวในเดือนเมษายน ก่อนที่ทรัมป์จะระงับมาตรการภาษีแบบตอบโต้ ประเทศต่าง ๆ ที่มีกำหนดจะต้องเผชิญกับภาษีเหล่านั้นถูกเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องแต่งกายและรองเท้า
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลักได้แก่ เมล็ดพืชน้ำมันและธัญพืช รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ