28 ปี ต้มยำกุ้ง : โจทย์ 2568 ต่างจาก 2540 รับมือ บาทผันผวนแข็งค่า-เศรษฐกิจชะลอ
เปิดบทเรียน 28 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง โจทย์ปี 2568 ไม่เหมือนปี 2540 รับมือบาทแข็งค่า-ผันผวน เศรษฐกิจชะลอ กระสุนการคลังมีน้อย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2568 ครบรอบ 28 ปีของการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการผูกค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน
บริบทเศรษฐกิจปี 2568 ได้ปรับเปลี่ยนไปมากจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทั้งในมิติของทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3 เท่า ขณะที่ ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง เงินสำรองอยู่ในระดับสูง และมีกลไกเร่งจัดการปัญหาหนี้เสีย เพราะได้บทเรียนจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
หากเทียบ 5 ข้อที่สำคัญระหว่างปี 2540 กับ ปี 2568 พบว่า
- ในด้านอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2540 จีดีพีไทยอยู่ที่ 5.2% (เฉลี่ยปี 2540 - 2541) ขณะที่ปัจจบัน 2568 จีดีพีไทยอยู่ที่ 3.1% (1Q/68) แต่แนวโน้มชะลอตัว
- ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในสิ้นปี 2540 อยู่ที่ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือ 70.4% ของหนี้ระยะสั้น แต่ ณ มิ.ย. 2568 ไทยมีเงินทุนสำรอง ฯ 258 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือ 304% ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
- ด้านหนี้ต่างประเทศในปี 2542 ไทยมีหนี้ต่างประเทศ 72.9% ต่อจีดีพี แต่ใน Q1/68 หนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 35.4% ของจีดีพี
- สำหรับ NPLs ระบบธนาคาร เมื่อปี 2542 อยู่ที่ 52.3% ต่อสินเชื่อรวม แต่ในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 2.90% ต่อสินเชื่อรวม
- ส่วนค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 อ่อนค่าหนักตามพื้นฐานเศรษฐกิจ และผันผวนมากหลังประกาศลอยตัวค่าเงิน แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 เงินบาทแข็งค่า 5% เพราะดอลลาร์สหรัฐ ฯ อ่อนค่า ราคาทองคำโลกปรับขึ้น และความผันผวนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ดี โจทย์เศรษฐกิจปี 2568 มี 3 เรื่องสำคัญ คือ
- ความกังวลต่อทิศทางแข็งค่าของเงินบาท แม้ความผันผวนของเงินบาทปี 2568 จะน้อยกว่าช่วงปี 2540
โดยเงินบาทแข็งค่า 5.5 % เมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2567 ขณะที่ความผันผวนของเงินบาทปี 2568 น้อยกว่าช่วงปี 2540 แต่ในปีนี้พบว่าค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึง ปัจจุบัน (3ก.ค.) ผันผวน 8.1% มากกว่าความผันผวนของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 7.9%
โดยค่าเงินบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) มีค่าความผันผวนสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7-8% หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ปี 2560-2564 ค่าความผันผวนของเงินบาทจะอยู่ในช่วงประมาณ 3-5%
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว จากผลของ Tariffs สหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยง และปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
- กระสุนทางการคลังเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น