เปิด 5 นโยบายเร่งด่วน “พงศ์กวิน” รมว.แรงงานคนใหม่ ปั้นแรงงาน AI เพิ่มค่าจ้าง คุมต่างด้าว
"พงศ์กวิน" ปักธง ปั้นแรงงานไทยสู่ยุค AI ดันค่าจ้างสูงขึ้น จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว หวังแก้ไขปัญหา-ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยหลังนั้งตำแหน่ง รมว.แรงงานคนใหม่
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 68 นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเป็นวันแรกว่า จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อน 5 นโยบาย เพื่อให้แรงงานไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดย 5 นโยบาย ประกอบด้วย
5 กลยุทธ์สำคัญ เพื่ออนาคตแรงงานไทย :
- "AI เพื่อยกระดับแรงงานไทย" : รมว.แรงงานเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตร AI ให้สอดคล้องกับภาคการผลิตและบริการอย่างเร่งด่วน โดยจะดึงแรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการฝึกทักษะ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และใช้กลไก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนให้ร่วมพัฒนาทักษะแรงงานด้าน AI ให้ทันต่อความต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
- "การคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม" : นโยบายนี้มุ่งผลักดันกฎหมายแรงงานใหม่ให้ครอบคลุม แรงงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติและบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย กระทรวงแรงงานจะต้องดูแลแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมศึกษาและพัฒนากฎหมายและระบบประกันสังคมให้ทันสมัยเพื่อรองรับการทำงานที่หลากหลายในปัจจุบัน
- "Learn to Earn" : เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนไทยที่มีความสามารถรอบด้าน รมว.แรงงานจะสนับสนุนการหารายได้เสริมระหว่างเรียนสำหรับเยาวชนช่วงอายุ 15-18 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมประสบการณ์และสร้างทักษะแล้ว ยังช่วยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยยึดหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงานเยาวชนที่อนุญาตให้ทำงานได้ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ และไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตราย โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- "สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย" : แม้ว่าในปีนี้จะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถึง 2 รอบ ทำให้แรงงานในบางพื้นที่และบางสาขาอาชีพได้รับค่าจ้าง วันละ 400 บาท แล้ว แต่ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมชี้ว่ายังมีผู้ประกันตนอีก 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไทย 1.8 ล้านคน ที่ยังได้รับค่าจ้างไม่ถึงวันละ 400 บาท ซึ่งสะท้อนว่าแรงงานกว่า 90% มีรายได้เกิน 400 บาทต่อวันแล้ว สำหรับกลุ่มที่เหลือ รมว.แรงงานได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งยกระดับรายได้ โดยในระยะแรกจะเน้นการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ ทั้งการ Up-Skill และ Re-Skill เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐานที่จะเข้าสู่ระบบค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นเกินกว่าวันละ 400 บาท ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังพร้อมพัฒนากลไกค่าจ้างขั้นต่ำและโครงสร้างค่าจ้างให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
- "การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน" : เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการ แต่การขาดการควบคุมทำให้เกิดปัญหาตามมา รมว.แรงงานจึงเร่งจัดระเบียบ โดยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการขออนุญาต หรือผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน พร้อมบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบทำงาน และการทำงานที่เป็นการแย่งอาชีพคนไทย
นอกจากนี้ นายพงศ์กวินยังกล่าวถึง กรณีแรงงานกัมพูชาที่ทยอยกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานพิจารณาแนวทางการปรับสัดส่วนแรงงานแต่ละสัญชาติให้สมดุล และจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแรงงานจากนอกกลุ่ม CLMV เข้ามาเสริม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น