ธพ.หารือเพิ่มสำรองน้ำมัน แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.10 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 4 ก.ค. – กรมธุรกิจพลังงาน หารือสำรองเพิ่มสำรองรับน้ำมัน หากเหตุการณ์ตะวันออกกลางปะทุ เบื้องต้นพบว่ายังไม่ต้องเพิ่ม เพราะมีพลังงานเพียงพอ และเตรียมเดินหน้านำระบบ e-Service ช่วยลดระยะเวลาในการขอใบอนุญาตและตรวจสอบขั้นตอนได้รวดเร็วขึ้น โปร่งใส
จากที่นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมติดตามสถานการณ์พลังงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขัดแย้งในตะวันออกกลางนั้นนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า กรมฯ ได้รับมอบหมายให้ พิจารณาแนงทางเพิ่มความมั่นคง แม้ว่าในขณะนี้อิสราเอล-อิหร่าน ประกาศหยุดยิงกันชั่วคราวก็ตาม ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาแผนงานรอบด้านว่าจะเพิ่มความมั่นคงให้มากขึ้นอย่างไรหากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นมาอีก โดยแนวทางพิจารณาดำเนินการหลายเรื่อง เช่น เพิ่มสำรองน้ำมันทางกฏหมาย จากปัจจุบันกำหนดน้ำมันดิบสำรอง 6% น้ำมันสำเร็จรูปสำรอง 1% โดยไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางราวครึ่งหนึ่งของกำลังกลั่น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในส่วนนี้จะเป็นการกลั่นเพื่อใช้ในประเทศ เพียง 8 แสนบาร์เรล/วัน ที่เหลือส่งออก การดำเนินการก็จะพิจารณารวมไปถึงการกลั่นเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น ก็จะยืดระยะเวลาสำรองน้ำมันโดยรวมเพิ่มขึ้นได้อีก จากขณะนี้ไทยมีสำรองทั้งตามกฏหมายและสำรอง working stock ของผู้ค้า และสำรองในเรือขนส่งรวม 60 วัน นอกจากนี้กรมฯ ก็จะพิจารณาถึงการเตรียมพร้อมการจัดซื้อจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ กรมฯ หารือ และเป็นการเตรียมแผนงานไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ในขณะนี้คลี่คลายแล้ว โดยการจะปรับเพิ่มสำรองก็จะเป็นต้นทุนของเอกชนและในที่สุดก็ต้องผลักภาระเป็นต้นทุนราคาของประชาชน จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการประหยัดน้ำมัน รวมถึงการทำงานที่บ้าน (Work from home) จะทำให้เกิดการประหยัดน้ำมันในประเทศได้มาก เป็นต้น
“มั่นใจว่าใน 60 วันนับจากนี้ ไทยยังมีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้แน่นอน เนื่องจากไทยมีสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายอยู่ 21.5 วัน, น้ำมันสำเร็จรูปอีก 3.5 วัน น้ำมันที่ภาคเอกชนสำรองการค้าอีก 14 วัน และน้ำมันที่อยู่ในเรือซึ่งกำลังเดินทางมายังไทยซึ่งใช้ได้อีก 21 วัน และยังมีความพร้อมด้านก๊าซธรรมชาติ ทั้งก๊าซทางท่อและ LNG จากกาตาร์อีก 2 ลำเรือ ปริมาณ 7 หมื่นตันต่อลำ ที่จะเข้ามายังไทย ดังนั้นในเดือน ก.ค. 2568 นี้ กรมฯ ยังมีความมั่นใจว่าพลังงานในไทยมีเพียงพอรองรับความต้องการใช้ของประชาชน” นายสราวุธ กล่าว
กรมธุรกิจพลังงาน ยังเดินหน้า “โครงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ด้านการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ของกรมฯ ที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เพื่อลดระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆ และเกิดความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาขอใบอนุญาตกิจการควบคุม รวมถึงใบจดแจ้งต่างๆ รวมประมาณ 7-8 หมื่นใบต่อปี และมีผู้ค้ารายย่อยที่ต้องติดต่อกับกรมฯ ประมาณ 25,000 ราย รวมถึงกลุ่มรถขนส่งอีกประมาณ 2,000-3,000 ราย ซึ่งปกติกระบวนการขอใบอนุญาตจะใช้เวลาประมาณ 30-60 วัน แต่เมื่อมีระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยจะทำให้การจดแจ้งต่างๆ เร็วขึ้น 7-15 วัน โดยจะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.-30 ก.ย.68
สำหรับกรณีประเทศกัมพูชาไม่ต้องการซื้อน้ำมันจากไทยนั้น ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันจากค่าย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งว่ายังสามารถรับมือได้และยังไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด ซึ่ง OR มีปั๊มน้ำมันในกัมพูชาประมาณ 160 แห่ง OR หันไปรับน้ำมันจากทางประเทศสิงคโปร์เพื่อมาจำหน่ายแทน โดยขอย้ำว่าไทยไม่ได้ปฏิเสธการขายน้ำมันให้กัมพูชา แต่ทางกัมพูชาเป็นผู้ยกเลิกการซื้อน้ำมันจากไทยเอง ดังนั้นน้ำมันส่วนที่เหลือจากขายให้กัมพูชา ทางไทยจะหันไปขายในตลาดอื่นซึ่งยังมีความต้องการแทน ซึ่งยังไม่ได้กระทบต่อไทยมากนัก แต่กรมฯ ก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันว่าจากที่กัมพูชาประกาศไม่รับซื้อน้ำมันจากไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนนั้น ทางกัมพูชาซื้อจากที่อื่นได้ราว 6 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 37,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่โรงกลั่นฯ กลั่นเพื่อส่งออกราว 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทุกรายก็มีการกลั่นไปส่งออกตลาดอื่นๆ ทดแทน เช่น สิงคโปร์ ศูนย์กลางการค้าน้ำมัน ในขณะที่การใช้มันของกัมพูชามีราว 10 ล้านลิตรต่อวัน รับจากไทย 6 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อต้องไปซื้อจากประเทศอื่นๆ ทดแทน ค่าขนส่งก็จะพุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นราว 1 บาทต่อลิตร. -511-สำนักข่าวไทย