ปิดทาง “ยุบสภาฯ” !?
การประชุมครม.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.68 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญอยู่ที่การหารือเรื่อง “อำนาจ” ในมือ “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ที่บัดนี้มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย นั่งอยู่ในระหว่างที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯและรมว.วัฒนธรรม ถูกคำสั่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยคำร้องว่าด้วย “คลิปเสียงฮุนเซน” ออกมา
รัฐมนตรี ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ทั้ง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม ต่างออกมายอมรับว่า มีการพูดคุยกันจริง โดยอ้างความเห็นจาก “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ชี้ว่าเรื่องนี้เป็น “อำนาจเฉพาะตัว” ของ “นายกฯ” คนเดียวเท่านั้น “รักษาการนายกฯ” ไม่สามารถทำได้ !
แน่นอนว่า เมื่อในการประชุมครม.นัดพิเศษ “แพทองธาร 1 / 2” ที่เพิ่งตั้งขึ้นมา ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง บวกกับในสภาวะสุญญากาศ ที่ นายกฯแพทองธาร ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้ยังมีภูมิธรรม นั่งรักษาการนายกฯ แต่การใช้ “อำนาจ” ย่อมอยู่ในวงจำกัด
สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ไม่ต่างจากอยู่ในวงล้อม จากพรรคฝ่ายค้านที่บีบให้ “ยุบสภาฯ” ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะ พรรคประชาชนมั่นใจใน “คะแนนนิยม” ของพรรคที่นำโด่ง แต่สำหรับพรรคอื่นๆ ล้วนต้องใช้ทั้งเวลาและ “ทุนรอน” เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งรอบหน้า หากมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยเอง ณ เวลานี้ย่อมต้องการอยู่ในอำนาจรัฐให้ยาวนานที่สุด อีกทั้งอย่าลืมว่าการตัดสินใจยุบสภาฯ จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ชี้ชะตานายกฯแพทองธาร ก็ใช่ที่ เพราะจะกลายเป็นการกลัวเกินเหตุ และต้องตัดสินใจเพราะ “เกม” จากพรรคส้ม
ดังนั้นเมื่อมีควาชัดเจนจากเลขาฯกฤษฎีกา ย้ำว่า อำนาจการยุบสภาฯ เป็นอำนาจ “เฉพาะตัว” ของ นายกฯเท่านั้น ส่วนรักษาการนายกฯนั้นไม่มีสิทธิ จึงเป็นเหมือน “คำตอบ” ที่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยหวังที่จะ “สื่อ” ไปยัง “ฝ่ายค้าน” ตลอดจน “ฝ่ายตรงข้าม” ทั้งกลุ่มบุคคล และกลุ่มมวลชนรวมพลังแผ่นดิน ที่ร่ำๆจะเคลื่อนไหว กดดันให้นายกฯยุบสภาฯ -ลาออก
เมื่อการยุบสภาฯ ไม่อาจทำได้โดย “รักษาการนายกฯ” คือ ภูมิธรรม นั่นหมายความว่า แผนการเล่นของพรรคประชาชน ยิ่งขยับต่อไปได้ยาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ยังติดเงื่อนไขเมื่อโยนเก้าอี้ “นายกฯชั่วคราว” ลงมากลางสภาฯ เพื่อหวังเป็นสิ่งล่อใจให้ พรรคสีน้ำเงินเล่นตาม แต่นาทีนี้ พรรคส้ม กับพรรคสีน้ำเงิน แม้จะเป็น “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ด้วยกัน แต่ก็ “เป้าหมาย” อาจจะแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง !