พายุวิภา เข้าเมียนมา 25 ก.ค. กรมอุตุฯเผยพายุลูกใหม่ "ฟรานซิสโก" ก่อตัว
กรมอุตุนิยมวิทยาคาด “พายุวิภา” ผ่านไทยเคลื่อนเข้าประเทศเมียนมา 25-26 ก.ค.นี้ แต่หลายพื้นที่ของไทยยังมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงช่วง 25-29 ก.ค.นี้ เหตุยังมีแนวร่องมรสุมพาดผ่านตอนบน ส่วน กทม.และปริมณฑล หลัง 25 ก.ค.นี้ฝนจะลดลงเหลือ 40-60% ของพื้นที่ เผยมีพายุลูกใหม่ โซนร้อน “ฟรานซิสโก” กำลังก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายอากาศทั่วไป 7 วันข้างหน้า หรือ ระหว่างวันที่ 23 – 29 กรกฎาคม 2568 ว่าในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีลมแรง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “วิภา” จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 29 ก.ค. ประเทศไทยจะมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจาก พายุดีเปรสชั่น “วิภา” มีแนวโน้มจะเคลื่อนออกไปทางประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.ค. 2568
พายุวิภาเข้าเมียนมา 25-26 ก.ค.
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง กับมีลมแรง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก และกาญจนบุรี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทั้งนี้เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “วิภา” ได้เคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
อนึ่ง เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (23 ก.ค. 68) พายุดีเปรสชั่น “วิภา” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว บริเวณแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก มีแนวโน้มจะเคลื่อนที่ออกไปทางประเทศเมียนมาในช่วง 25 – 26 ก.ค. 68
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดจากฝั่ง จนถึงวันที่ 25 ก.ค. 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ใน แผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศลาวตอนบน และมี พายุโซนร้อน “ฟรานซิสโก” อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ 1 ลูก แต่ค่อนข้างอยู่ห่างจากประเทศไทยมาก (ดูแผนที่อากาศผิวพื้นประกอบ)
เตือนจังหวัดฝนตกหนัก 23-24 ก.ค.
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
วันที่ 24 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี และกาญจนบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือหรืออพยพหากสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตและติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุดุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
คาดหมายอากาศรายภาค
วันที่ 23 – 29 ก.ค. 2568
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม.
ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27 – 31 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. มีฝนร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27 – 34 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่กับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28 – 32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. มีฝนร้อยละ 70 – 80 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 – 32 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ตลอดช่วง กับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.ค.
ในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.ค. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค
ในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ค.
- ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
- ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ค.
- ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
- ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 34 องศาเซลเซียส
กรุงเทพฯและปริมณฑล
ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ค. มีฝนร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
(ออกประกาศ 23 กรกฎาคม 2568)
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พายุวิภา เข้าเมียนมา 25 ก.ค. กรมอุตุฯเผยพายุลูกใหม่ “ฟรานซิสโก” ก่อตัว
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net