โลกยุคใหม่กับการเกณฑ์ทหารผู้หญิง เพื่อความเท่าเทียมหรือสร้างภาพ?
ท่ามกลางความขัดแย้งและการสู้รบที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงขึ้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเพิ่มงบประมาณด้านการทหารสำหรับใช้ป้องกันประเทศ และเพิ่มกำลังทหารของตัวเอง จนเกิดคำถามที่ตามมาว่า “การให้แค่ผู้ชายเข้ารับเกณฑ์ทหาร ยังเพียงพอหรือไม่?”
คำตอบของหลายประเทศคือ “ไม่พอ” และทางออกคือต้องเกณฑ์ผู้หญิงเข้ามาเป็นทหารด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะแม้เราจะเปิดกว้างแนวคิดให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นทหาร แต่ก็เป็นการสมัครโดยสมัครใจ แต่การเกณฑ์ผู้หญิงมาเป็นทหาร ซึ่งเป็นการออกกฎระเบียบให้ผู้หญิงต้องเป็นทหารด้วยการบังคับ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในหลายประเทศ ที่มองว่าการบังคับให้ผู้ชายเป็นทหารอาจไม่เรื่องแปลก เพราะผู้ชายมีหน้าที่ต้องเสียสละเพื่อปกป้องชาติอยู่แล้ว ส่วนผู้หญิงเป็นเพศที่ควรได้รับการปกป้อง ไม่ใช่ให้ผู้หญิงไปจับอาวุธเพื่อต่อสู้กับศัตรู ซึ่งเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ทำให้มีหลายคนมองว่าผู้หญิงก็ควรจะเสียสละ เข้ารับการเกณฑ์ทหารเพื่อปกป้องชาติได้เหมือนกัน อย่างผลสำรวจในอังกฤษ เมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีคน 72% เชื่อว่าหากมีการเกณฑ์ทหาร ผู้หญิงก็ควรจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วย ส่วนผลสำรวจของ Yougov เมื่อปีที่แล้วก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 42% บอกว่าผู้หญิงควรจะเข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่ต่างจากผู้ชาย โดยให้เหตุผลว่าการที่ผู้หญิงได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ชาย หมายถึงต้องมีหน้าที่รับผิดชอบที่เท่าเทียมกับผู้ชายด้วย
มีหลายประเทศทั่วโลกที่ผู้หญิงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่ต่างจากผู้ชาย เช่น อิสราเอลที่เริ่มเกณฑ์ทหารผู้หญิงตั้งแต่ปี 1948 ส่วนในยุโรป ก็มีนอร์เวย์ที่เริ่มเกณฑ์ทหารผู้หญิงตั้งแต่ปี 2015 ส่วนสวีเดนเริ่มเกณฑ์ทหารผู้หญิงตั้งแต่ปี 2017 และเดนมาร์กที่เพิ่งเริ่มเกณฑ์ทหารผู้หญิงในปีนี้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มองว่าการเกณฑ์ทหารผู้หญิงเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ซึ่งผู้หญิงควรมีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องการปกป้องระเทศไม่ต่างจากผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงบางกลุ่มมองว่า การเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหารโดยใช้เหตุผลเรื่องความเท่าเทียมนั้น เป็นเรื่องการเข้าใจความเท่าเทียมแบบผิด ๆ เช่น สมาคมเพื่อสิทธิผู้หญิงนอร์เวย์ หรือ NKF ที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านการเกณฑ์ทหารผู้หญิง เคยออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “การที่ผู้หญิงสามารถเป็นทหารได้ด้วยความสมัครใจเป็นเรื่องส่งเสริมความเท่าเทียม แต่การเกณฑ์ทหารผู้หญิงเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นการออกกฎบังคับให้คนไปเป็นทหาร ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมพยายามให้เหตุผลว่าผู้ชายกับผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทาง NKF คัดค้านว่าการเกณฑ์ทหารผู้หญิงไม่ใช่เรื่องของความเท่าเทียม แต่เป็นความเข้าใจผิดและเป็นการสร้างภาพให้ดูเหมือนว่าผู้ชายและผู้หญิงมีความเท่าเทียม”
NKF อธิบายว่าการที่ผู้ชายและผู้หญิงจะมีความเท่าเทียมกันได้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายและผู้หญิงต้องมีหน้าที่อย่างเดียวกัน แม้โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ชายและผู้หญิงควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ไม่ใช่ในทุกสถานการณ์ ในบางครั้ง ผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าผู้ชายในเรื่องของร่างกายควรได้รับการช่วยเหลือ ความแตกต่างเรื่องสรีระและระบบการทำงานของร่างกายระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ควรถูกนำมาพิจารณาตามสถานการณ์ให้มีความเหมาะสม ซึ่งผู้หญิงมีภาระที่ใหญ่หลวงตามธรรมชาติในเรื่องของการตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมลูก ซึ่งผู้ชายไม่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงนี้ การให้ผู้หญิงเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วย เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้หญิงมากเกินไป และมีแต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างในเรื่องโอกาสการทำงาน และช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายมากขึ้น
แน่นอนว่าหากผู้หญิงอยากเป็นทหารอาชีพด้วยความสมัครใจ เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม แต่การให้ผู้หญิงเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องการสร้างภาพเรื่องความเท่าเทียม และเป็นการสร้างภาพว่ากองทัพของประเทศนั้นเปิดรับความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายจะเข้ามาช่วยพัฒนากองทัพให้ดีขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพส่วนใหญ่ยังคงมีวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ และเมื่อผู้หญิงถูกเกณฑ์ทหารเข้าไปในกองทัพก็จะต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมนั้น โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง