ด่วน! ตร.ส่งคลิปเสียง ‘ฮุน เซน’ ให้อัยการแล้ว พบทำเป็นขบวนการในประเทศกัมพูชา
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ) ถนนแจ้งวัฒนะ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 ได้นำสำนวนคดีปล่อยคลิปเสียงสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งมอบให้กับอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการสอบสวนการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรตามกฎหมาย
โดยคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ บก.สอท.1 เพื่อดำเนินคดีกับสมเด็จฮุน เซน ฐานเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าว เพื่อหวังผลทางการเมืองและสร้างความแตกแยกให้ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า สำนวนที่ส่งให้อัยการสูงสุดมีจำนวนทั้งสิ้น 1 แฟ้มเอกสารถ้วน ประมาณ 50 หน้า โดยมีนายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ ซึ่งหลังจากที่ทางพนักงานสอบสวน บก.สอท.1 รับแจ้งความร้องทุกข์จากรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยพบว่า เพจ Facebook สมเด็จฮุน เซน มีลักษณะการโพสต์ข้อความที่เป็นขั้นเป็นตอน และเข้าองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จริง รวมทั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เพจ Facebook ดังกล่าวมี Admin อยู่ในประเทศกัมพูชา
จึงมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงได้ส่งสำนวนคดีแก่อัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 เพื่อให้อัยการสูงสุด ดำเนินการพิจารณาและเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย เพื่อกล่าวโทษแอดมินเพจ Facebook สมเด็จฮุน เซน ในสองความผิดข้างต้น
ทั้งนี้ แอดมินเพจดังกล่าวมีจำนวนกี่คนนั้น พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่ามีมากกว่า 1 คนแน่นอน ส่วนจะมีการกล่าวโทษถึงสมเด็จฮุน เซน ด้วยหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ระบุว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในสำนวน
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ในคดีนี้เป็นประเด็นเรื่องคลิปเสียงที่พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ส่วนประเด็นคลิปเสียงเรื่องที่กล่าวอ้างว่า สมเด็จฮุน เซ็น สั่งฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวร้องทุกข์นั้น เป็นคนละประเด็นกัน และคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ยืนยันว่า ทางพนักงานสอบสวนได้ดำเนินกระบวนการตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งตอนนี้อำนาจการสอบสวนได้โอนไปยังอัยการสูงสุดเป็นที่เรียบร้อย เน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแก้เกี้ยว เมื่อมีคนแจ้งความร้องทุกข์ ทางตำรวจก็ต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีหากพบความผิด โดยทางตำรวจไม่มีความกดดันในการทำคดี แต่ยอมรับว่า คดีนี้เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน เพราะอาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางตำรวจจึงต้องทำสำนวนคดีอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพยานหลักฐานที่มี
ด้านนายศักดิ์เกษมกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว หลังจากนี้ทางอัยการสูงสุด จะนำสำนวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบ เพื่อลงความเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรจริง ก็จะมีความเห็นตามและมีคำสั่งตั้งพนักงานอัยการของสำนักงานการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบข้อความ โดยต้องดูว่า มีเจตนาประสงค์ให้เกิดผลในราชอาณาจักรตามองค์ประกอบความผิดหรือไม่
หากมีพยานหลักฐานเพียงพอและพบเป็นการกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการส่งสำนวนกลับไปยังอัยการสูงสุดเพื่อทำความเห็นสั่งฟ้อง หากอัยการสูงสุดมีความเห็นพ้องสั่งฟ้องตาม จึงจะดำเนินการขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ และถึงค่อยประสาน Interpol หรือตำรวจสากล เพื่อออกหมายแดงต่อไป
นายศักดิ์เกษม ระบุว่า คดีนี้ในส่วนของอัยการจะดำเนินการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะยอมรับว่าคดีดังกล่าว มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ไม่กดดันในการทำงาน เพราะทางอัยการดำเนินการตามพยานหลักฐาน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จะต้องเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาให้ปากคำหรือให้ข้อมูลหรือไม่ นายศักดิ์เกษม กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานว่ามีเพียงพอหรือไม่ หรือมีความเห็นที่ควรจะต้องเรียกบุคคลในคดีมาให้การเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ยอมรับว่า เป็นการดำเนินคดีบุคคลสำคัญในต่างประเทศ ซึ่งต้องยึดตามพยานหลักฐานว่า เพียงพอแจ้งข้อหาความผิดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้นำต่างประเทศมาก่อน