ลุ้นดีลภาษีสหรัฐชี้ชะตา! หวังสูงไทยไม่เสียเปรียบเวียดนาม-อินโดฯ
ขณะที่หลายประเทศคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย สามารถปิดดีลกับสหรัฐได้แล้ว โดยยอมลดอัตราภาษีนำเข้าของตนให้สหรัฐเหลือ 0% แลกกับสหรัฐลดภาษีนำเข้าให้เหลือเพียง 19-20% ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ทีมไทยแลนด์ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐอย่างมาก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ส.อ.ท. ได้เร่งจัดทำรายงานผลกระทบของภาษีสหรัฐฯ ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 11 คลัสเตอร์ ส่งมอบให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อนำไปใช้ประกอบการเจรจาของทีมรัฐบาลไทยที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจาไปแล้ว
“ก่อนหน้านี้ เรายังได้ข้อมูลไม่ครบทุกกลุ่ม เพราะประธานในหลายกลุ่มสินค้าได้ติดภารกิจในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วที่เป็นช่วงลองวีคเอน ดังนั้นจึงทยอยรวบรวมเท่าที่ได้ก่อนและส่งต่อไปแล้ว ส่วนที่เหลือได้เร่งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมความเสียหายจากภาษี 36% ชัดเจนที่สุด”
เกิน 50% สินค้าไทยชนเวียดนาม
นายเกรียงไกรชี้ว่า จุดที่น่ากังวลคือ สินค้าส่งออกหลักของไทยกว่า 50% ไปชนกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้เวียดนามสามารถปิดดีลการเจรจากับสหรัฐได้แล้ว โดยได้รับการลดอัตราภาษีจาก 42% ลงเหลือ 20% และอินโดนีเซียจาก 32% เหลือ 19%
โดยที่ทั้งสองประเทศยอมลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐทุกรายการลงเป็น 0% พร้อมพ่วงเงื่อนไขการซื้อสินค้าจากสหรัฐล็อตใหญ่ ซึ่งได้สร้างความพอใจให้สหรัฐ ขณะที่ไทยยังถูกตั้งภาษีอยู่ในระดับ 36% เท่าเดิม หากยังไม่มีความคืบหน้า สินค้าไทยจะเสียเปรียบต้นทุนภาษีสูงกว่าเวียดนามถึง 16% อินโดนีเซีย 17% และมาเลเซีย 11% อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้จำลอง 4 ฉากทัศน์
ฉากทัศน์ 1 หากไทยถูกเก็บภาษีเต็ม 36% มูลค่าส่งออกไทยปีนี้อาจหายไป 8-9 แสนล้านบาท จีดีพีปีนี้อาจติดลบ 0.5-1% และเสี่ยงต่อการย้ายฐานผลิตของนักลงทุนไปยังประเทศที่ได้อัตราภาษีดีกว่าไทย
ฉากทัศน์ที่ 2 สหรัฐลดภาษีนำเข้าให้ไทยเหลือ 20-25% บางสินค้าพอที่จะแข่งขันได้กับประเทศที่มีส่วนต่างภาษีไม่มากนัก แต่บางสินค้าจะไม่สามารถแข่งขันได้เลย แม้ภาษีเราจะสูงกว่าประเทศคู่แข่งเพียง 1 หรือ 2% โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามที่มีโครงสร้างสินค้าส่งออกใกล้เคียงกับไทย จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัวได้เพียง 1-1.5%
ฉากทัศน์ที่ 3 สหรัฐลดภาษีไทยลงเหลือ 15-20% ไทยจะได้เปรียบบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาคนี้ จะทำให้ส่งออกไทยขยายตัวได้ 1-2% และจีดีพีขยายตัวได้ 1.5-2%
ฉากทัศน์ที่ 4 สหรัฐปรับลดภาษีไทยลงเหลือตํ่ากว่า 15% จะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งขัน และจะขยายการค้ากับสหรัฐได้มากขึ้น ส่งออกไทยอาจขยายตัวได้ 3-4% จีดีพีปีนี้จะโตมากกว่า 2% และที่สำคัญจะช่วยดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเพียงการคาดการณ์ในแต่ละฉากทัศน์ คงต้องรอผลการเจรจาและปิดดีลกับสหรัฐว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีเท่าใด
ตั้งความหวังภาษีไม่เสียเปรียบ
“ภาคเอกชนมีความคาดหวังต่อการเจรจาของรัฐบาลไทย อย่างน้อยที่สุดอัตราภาษีที่ได้ต้องไม่เสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งการที่เวียดนามยอมเปิดตลาดให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐทุกกลุ่มเหลือ 0% เป็นทางเลือกที่ยากสำหรับไทย เพราะเรามีภาคเกษตรและ SME เป็นกลุ่มเปราะบาง หากทำตามอาจกระทบฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ”
ทั้งนี้ สหรัฐมักใช้ภาคเกษตรเป็นหมากตัวใหญ่ในเจรจา โดยเฉพาะสินค้าหมู ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และเนื้อวัว ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน ซึ่งไทยยังไม่พร้อมเปิดตลาด 0% ในหมวดเหล่านี้ เพราะมีเกษตรกรและห่วงโซ่ซัพพลายเชนจำนวนมากที่ต้องได้รับการคุ้มครอง
แจงภาษีตอบโต้รวมภาษีพื้นฐานแล้ว
นายเกรียงไกรยังชี้แจงประเด็นที่หลายฝ่ายสับสนเกี่ยวกับภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ที่สหรัฐจัดเก็บจากทุกประเทศคู่ค้าไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 36% จะหมายรวมถึงภาษีพื้นฐาน 10% แล้ว ไม่ใช่นำมาบวกเพิ่มเป็น 46%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเร่งด่วนขณะนี้ คือ ข้อมูลเปรียบเทียบเชิงลึกจากภาครัฐ เพื่อใช้ประเมินการแข่งขันได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะภาพรวมต้นทุนของไทยเมื่อเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอาเซียนอื่น ๆ ซึ่งหลายประเทศมีต้นทุน ภาษีตํ่ากว่า แต่รัฐยังขาดระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและทันเวลา จึงต้องอาศัยภาคเอกชนจัดทำเอง
“การเจรจาครั้งนี้ ไม่เพียงเดิมพันกับมูลค่าการส่งออกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสามารถในการรักษาสถานะประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตโลกและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ หากไทยพลาดดีล หรือได้อัตราภาษีที่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัวกลับมา” นายเกรียงไกร กล่าว