"เศรษฐา" ลุ้นข่าวดี “ภาษีทรัมป์” คาดไทยถกสหรัฐฯ อีกรอบ
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2568) นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการคมชัดลึกตอนหนึ่งถึงกรณีการเจรจา “ภาษีทรีมป์” กับทางสหรัฐอเมริกา ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการประกาศอัตราภาษีตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal Tariff) กับประเทศไทย 36% ต้องลดลงแน่นอน หลังทีมไทยแลนด์ ได้เจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในรอบสุดท้ายเมื่อคืนวานนี้ และอาจหารืออีกหนึ่งรอบก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศอัตราภาษีรอบใหม่ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้
"ตอนนี้เชื่อว่า อัตราภาษีคงจะลดลงได้ แต่จะดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือ หรือเทียบเท่ากันหรือไม่ ก็ต้องคอยดูต่อไป" นายเศรษฐา ระบุ
นายเศรษฐา กล่าวว่า อัตราภาษีที่จะประกาศออกมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นอัตราใด ก็ต้องเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วย โดยหวังว่า ถ้าประเทศไทย ถูกเรียกเก็บภาษีเท่าประเทศเวียดนาม 20% ก็น่าจะแข่งขันได้ แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่กัน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน หรือผลิตภาพทางการผลิต โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตรที่ยังต่ำกว่าเวียดนาม
อย่างไรก็ตามในส่วนตัวมองว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ดังนั้นการตัดสินใจอะไรก็คำนึงถึงองค์รวมทั้งหมดถ้าประเทศไทยให้อะไรไปดี ก็เชื่อว่าสหรัฐฯ ก็คงตอบสนองกลับมาดีพอสมควรเช่นกัน แต่นอกเหนือจากเรื่องภาษีแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี
“อย่างประเด็นฐานทัพเรือที่พังงา เรื่องนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร หรือการอำนวยความสะดวกสินค้านำเข้า การป้องกันการสวมสิทธิ หรือเรื่องของการก๊อปปี้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ก็ต้องเป็นประเด็นที่ต้องหารือกัน” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัจจุบันจุดแข็งของประเทศไทยมีหลายอย่าง แต่มีการพูดถึงน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหาร และพืชผลทางการเกษตร ยังสามารถทำได้อีกหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ข้าว สามารถนำงานวิจัยมาช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน
ส่วนยังตัวมองว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสเจาะตลาดใหม่อีกมาก เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง และแอฟริกา ถือเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่ได้เร่งมือทำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ที่มีความต้องการเรื่องของสินค้าอาหารอีกมาก และยังสามารถช่วยเกษตรกรไทยมีตลาดส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบปัญหาสินค้าล้นตลาดในปัจจุบันได้ด้วย
ขณะที่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นายเศรษฐา กล่าวว่า การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งมือ โดยที่ผ่านมาการดึงดูดการลงทุนประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังจากมีการดึงธุรกิจด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จากสหรัฐฯ และจีน เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และในอนาคตหากไทย ถูกคิดภาษีเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ โดยขยายระยะเวลาให้ชาวต่างชาติ สามารถเช่าที่ดินได้จากเดิมไม่เกิน 30 ปี เป็นระยะยาว 99 ปี นั้น เห็นว่า จริง ๆ หลายประเทศได้ทำแล้ว ส่วนข้อกังวลว่าจะเป็นการขายชาตินั้นคงไม่มีแน่นอน เพราะเมื่อครบระยะเวลาแล้วทรัพย์สินก็เป็นของรัฐบาล แต่ที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องหาทางป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจที่เปราะบาง เช่น การเกษตร ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้คงไม่อนุญาตให้ทำ
นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังกล่าวถึงประเด็นด้านการเมืองว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะตัดสินใจยุบสภา เพราะตอนนี้ยังมีเรื่องสำคัญหลายอย่างที่ต้องขับเคลื่อนทั้งเรื่องการจัดทำงบประมาณ และภาษีทรัมป์ อาจทำให้เกิดสุญญากาศได้หากยุบสภา แต่ถ้านายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จริง ๆ ก็ต้องเป็นไปตามกฎไกของรัฐธรรมนูญ โดยขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อใคร ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ยังเหลือแคนดิเดตนายกฯ คือ นายชัยเกษม นิติสิริ
“มั่นใจศักยภาพประเทศไทยมีทางตันก็มีทางออก ไม่ว่าจะมีนายกฯ ใหม่ นายกฯแพทองธารไปต่อ ก็ยังมีเวลาเกือบสองปี แต่ถ้าแนะนำได้ เห็นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่ก็ต้องไม่ลืมระยะสั้น โดยเฉพาะการดูแลประชาชน ทั้งแก้ราคาพืชผลการเกษตร-น้ำท่วมน้ำแล้ง แก้ปัญหายาเสพติด และแก้หนี้ครัวเรือน” นายเศรษฐา กล่าว