ปกครองท้องถิ่น แจงยิบงบกระตุ้นศก. กระจายทั่ว อบต. - อบจ. รับงบไม่ถึง 700 ล้าน
จากกรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับการพิจารณาในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและมีการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรมนั้น
ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียด โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการและคำของบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568
ต่อมากระทรวงการคลัง ได้เสนอกรอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสนอให้ ครม. พิจารณา ประกอบกับสำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อเสนออนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมการนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ และ ครม.
จากนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้จังหวัดจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณ ตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อ รมว.มหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะจัดส่งข้อมูลให้จังหวัดนำไปอัปโหลดในระบบ New e-Budgeting ต่อไป
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย มอบหมายภารกิจให้ สถ. ดำเนินการประสาน รวบรวม และกลั่นกรองข้อเสนอโครงการ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. ทุกแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา)
โดย สถ. ได้รับข้อเสนอโครงการของ อปท. รวมทั้งสิ้น 5,316 แห่ง จำนวน 27,494 โครงการ งบประมาณ 161,950,170,900 บาท ซึ่งเกินกรอบวงเงินในภาพรวม 157,000 ล้านบาท ของงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับได้รับข้อมูลว่าสำนักงบประมาณให้ความสำคัญกับโครงการด้านคมนาคมประมาณ 70,000 ล้านบาท และโครงการด้านน้ำประมาณ 40,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 110,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่จะจัดสรรให้ อปท. ประมาณ 37,000 ล้านบาท
ดังนั้น สถ. จึงได้พิจารณาคำขอที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงบประมาณกำหนด รวมถึงพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์ของการบันทึกข้อมูลแบบคำขอในระบบ New e-Budgeting ความพร้อมของแบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ จึงได้พิจารณากลั่นกรองเสนอคำขอโครงการของ อปท. ให้ รวมทั้งสิ้น 1,876 แห่ง จำนวน 4,826 โครงการ งบประมาณ 34,690,532,600 บาท
โดยภาพรวมของข้อเสนอโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย มีจังหวัดที่มีคำของบประมาณเกิน 500 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 25 จังหวัด จังหวัดที่มีคำขอมากที่สุดคือจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 100 อปท. 252 โครงการ งบประมาณ 2,050,686,100 บาท และจังหวัดที่มีคำขอน้อยที่สุดคือจังหวัดภูเก็ต จำนวน 1 อปท. 1 โครงการ งบประมาณ 3,527,800 บาท ค่าเฉลี่ยการกระจายตัวทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 456 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่า บาง อบต. หรือ อบจ. ขออะไรไม่เคยได้เลย บางที่ขอมาได้ 1 - 3 ล้านบาท แต่ได้ยินว่าพื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยได้เป็นร้อย ๆ ล้านบาท บางแห่งได้ถึง 700 ล้านบาทนั้น สถ. ชี้แจงว่า ได้พิจารณาถึงการกระจายตัวของงบประมาณ และคำขอโครงการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณกำหนด โดยคำนึงถึงโครงการที่มีความพร้อมของข้อมูล แบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่มี อบต. หรือ อบจ. ใดได้รับงบประมาณถึง 700 ล้านบาทแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่า บางพื้นที่เป็น อบต. ขนาดเล็ก ได้รับงบประมาณถึง 60 - 70 ล้านบาท แต่บางพื้นที่ไม่มีการจัดส่งงบประมาณลงไปเลยนั้น สถ. ได้ตรวจสอบแล้ว คำขอโครงการของ อบต. มีจำนวน 3,521 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองคำขอโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณ และมีความพร้อมของข้อมูล แบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ จำนวน 1,571 แห่ง
โดยมี อบต. ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 169 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว และมีจำนวน อบต. ที่คำขอโครงการไม่ผ่านการพิจารณา จำนวน 1,947 แห่ง เนื่องจากคำขอไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีความพร้อมของการบันทึกข้อมูลแบบรูปรายการประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตามกรณีข้อมูลคำของบประมาณไม่ตรงกันกับในระบบ New e-Budgeting สถ. ยอมรับว่า สำนักงบประมาณกำหนดให้ อปท. บันทึกข้อมูลในระบบ New e-Budgeting ซึ่งเป็นระบบใหม่ และระยะเวลาจำกัด ทำให้ในห้วงระยะที่ต้องบันทึกข้อมูลไม่สามารถใช้งานได้ ข้อเสนอโครงการของ อปท. จึงขาดความสมบูรณ์ ประกอบกับ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง มีการบันทึกข้อมูลให้แก่สำนักงบประมาณโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจาก สถ. ส่งผลให้ข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกัน
สถ. ยืนยันว่า กรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. สถ. ได้พิจารณาอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดแล้ว