ราคาข้าวญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสองเท่า กดดันนายกรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งสภาสูง
ราคาข้าวในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น 99.2% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ กดดันมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งสำคัญสุดสัปดาห์นี้
ถุงข้าวสารบรรจุพร้อมขายวางอยู่หน้าทางเข้าโรงสีข้าวแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม (Photo by Kazuhiro NOGI / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 กล่าวว่า ราคาข้าวในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น 99.2% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของทางการ ทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากภาคประชาชน
กระแสสนับสนุนต่อรัฐบาลปัจจุบันร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่อิชิบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจต่อค่าครองชีพ
หนึ่งในสาเหตุหลักของความโกรธแค้นคือภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงเรื่องอื้อฉาวภายในพรรครัฐบาล
ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นแล้ว 101% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนพฤษภาคม โดยเพิ่มขึ้น 98.4% ในเดือนเมษายน และมากกว่า 92.5% ในเดือนมีนาคม
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่า โดยรวมแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นชะลอตัวลงเหลือ 3.3% ในเดือนที่แล้ว จาก 3.7% ในเดือนพฤษภาคม
ตัวเลขดังกล่าวซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดที่ผันผวน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 3.4%
หากไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 3.4% เทียบกับ 3.3% ในเดือนพฤษภาคม
ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้งสำคัญวันอาทิตย์ชี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลอาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งอาจบีบให้อิชิบะต้องลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่างไปก่อนแล้ว
นับเป็นผลการเลือกตั้งที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 15 ปีสำหรับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งปกครองญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1955
อิชิบะกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มเติมให้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐอเมริกาก่อนที่ภาษีศุลกากรใหม่ 25% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม
การส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสู่ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกกำลังถูกจัดเก็บภาษีอย่างหนัก เช่นเดียวกับเหล็กและอะลูมิเนียม
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ต้องการให้บริษัทญี่ปุ่นผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นและให้รัฐบาลโตเกียวซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซ, น้ำมัน, รถยนต์ และข้าว เพื่อลดการขาดดุลการค้า 70,000 ล้านดอลลาร์กับมหาอำนาจแห่งเอเชีย
อิชิบะซึ่งได้ส่งทูตการค้าของเขาไปยังวอชิงตันถึง 7 ครั้งเพื่อพยายามเจรจาต่อรอง มีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในวันศุกร์
รัฐบาลโตเกียวกล่าวว่า ทูตการค้าจะเข้าร่วมการเจรจาและเดินทางไปกับเบสเซนต์เพื่อเยี่ยมชมงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่โอซาก้าในวันเสาร์
ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง แต่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีศุลกากรสหรัฐฯที่มีต่อประเทศขนาดเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก ทำให้ธนาคารฯต้องดำเนินนโยบายช้าลง
ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังราคาข้าวที่สูงขึ้น ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนข้าว อันเนื่องมาจากฤดูร้อนที่ร้อนและแห้งแล้งอย่างรุนแรงเมื่อสองปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั่วประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นับแต่นั้นมาผู้ค้าข้าวบางรายได้กักตุนข้าวไว้เพื่อเพิ่มผลกำไรในภายหลัง
ปัญหาดังกล่าวยิ่งเลวร้ายลงจากการซื้อแบบตื่นตระหนกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากคำเตือนของรัฐบาลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
รัฐบาลได้ดำเนินการที่หาได้ยากยิ่งด้วยการระบายคลังข้าวสำรองฉุกเฉินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำได้เฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเท่านั้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า "การพลิกผันของนโยบาย, ความล่าช้าในการส่งผ่านจากราคาผู้ผลิตไปยังราคาผู้บริโภค และการอ่อนค่าของเงินเยน จะทำให้แรงกดดันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น"
"และเมื่ออัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินยังคงติดขัด อัตราค่าจ้างที่แท้จริงจะไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างที่ต้องการในเร็วๆ นี้ และการเติบโตของค่าจ้างน่าจะชะลอตัวลงอีก เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรและการคุกคามด้านภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อสภาวะการผลิตและการจ้างงาน"
"สิ่งนี้ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ลำบาก และคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้แต่ไม่นานนัก ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม และอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนธันวาคม" นักวิเคราะห์กล่าว.