ธงทองเผย มส. เห็นชอบแก้กฎใหม่ พบหลักฐานชัดพระเสพเมถุนธรรม ต้องเร่งพิจารณาปาราชิกให้จบใน 10 วัน
วานนี้ (21 กรกฎาคม) ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยหลังการประชุมมหาเถรสมาคม ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร สืบเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากความประพฤตินอกพระวินัยของพระภิกษุจำนวนหนึ่งตามที่เป็นข่าวในขณะนี้
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการลงนิคหกรรม หรือการวินิจฉัยตัดสินโทษพระภิกษุที่กระทำผิด และกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ซึ่งกฎทั้งฉบับมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกัน
กฎเดิมรวมหลักฐานพิสูจน์ข้อกล่าวหาใช้เวลานาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองระบุว่า กฎหมายทั้งฉบับ บัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี 2521 หรือ 47 ปีที่แล้ว และปี 2538 หรือ 30 ปีที่แล้ว ตามลำดับ การกล่าวหาอธิกรณ์หรือข้อกล่าวหาว่าพระภิกษุกระทำผิดพระวินัย อาศัยพยานหลักฐานในยุคนั้น คือพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความผิดฐานเสพเมถุนธรรม ที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ หรือด้วยเหตุปาราชิก ยากต่อการหาพยานหลักฐานแน่ชัด นอกจากนี้ ยังกำหนดกระบวนการพิจารณาให้มีชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ด้วย ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะปรากฏผล
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันนี้ พยานหลักฐานที่เป็นไปตามยุคสมัย เช่น คลิปวิดีโอ การตรวจสอบข้อมูลจากการสนทนาทางโทรศัพท์ ฯลฯ เป็นข้อมูลที่ไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าถึงได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพยานหลักฐานเหล่านั้นมิได้สร้างขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งรังแกผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานเหล่านั้นย่อมมีความชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อชี้ขาดอธิกรณ์ได้โดยไม่ชักช้า เป็นเวลาสมควรอย่างยิ่งที่จะมีการแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้”
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองระบุว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงใส่พระทัยในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ทรงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อยกร่างกฎมหาเถรสมาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมแก่กรณีขึ้นคณะหนึ่ง และได้ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบ ในร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะทำงานนำขึ้นถวาย และมีพระบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม
“การแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมทั้งสองฉบับในวันนี้ ยังคงรักษาหลักการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้การวินิจฉัยอธิกรณ์และการลงนิคหกรรมเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ดำเนินการ ไม่ใช่ภาระธุระที่ฆราวาสหรือข้าราชการจะไปเป็นผู้ชี้ขาด หากแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเอื้อเฟื้อสนับสนุนในเรื่องพยานหลักฐานและการทำงานของคณะสงฆ์” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองระบุ
หากพบหลักฐานชัดทำผิดปาราชิก ดำเนินการภายใน 10 วัน
สาระสำคัญของการปรับแก้คือ หากปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่ได้มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับมาจากแหล่งอื่นใดก็ดี ว่ามีภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง กระทำความผิดถึงปาราชิก หรือแม้ไม่ถึงปาราชิก เช่น ความผิดในระดับสังฆาทิเสส แต่เกิดผลความเสียหายร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องนำเสนอเรื่องนั้นพร้อมพยานหลักฐานเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาด
ในกรณีพระภิกษุทั่วไปกระทำผิด เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะภาคเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเป็นกรณีพระสังฆาธิการ คือเป็นพระภิกษุผู้มีตำแหน่งในทางปกครอง เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ตัดสิน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญคือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ หรือเป็นพระราชาคณะ เป็นหน้าที่และอำนาจของเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา
การพิจารณาอธิกรณ์เรื่องปาราชิก หรือมีความร้ายแรง ตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนดังที่ว่ามาข้างต้น ผู้มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน
เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้กระทำผิด ต้องสละสมณเพศแล้ว แต่ผู้นั้นยังดื้อดึงไม่ปฏิบัติตาม ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานขอกำลังและอารักขาจากฝ่ายบ้านเมืองเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองย้ำว่า ร่างกฎมหาเถรสมาคมสองฉบับที่ได้รับความเห็นชอบแล้วในวันนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้นำขึ้นถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงลงพระนาม และนำไปประกาศในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ เพื่อให้มีผลใช้บังคับ ภายในเร็ววัน
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคมทั้งสองฉบับนี้ จะเป็นผลให้การพิจารณาอธิกรณ์ร้ายแรงปรากฏผลในเร็ววัน และเชื่อได้ว่าจะทำให้พุทธศาสนิกชนมีความสบายใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแนวทางเช่นนี้