UNESCO ยกย่องเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่ ทรงตั้งพระทัยในการยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทรงสืบสานพระราชปณิธาณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ที่ทรงจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของโครงการศิลปาชีพเมื่อปี 2515 ณ บ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ทรงตั้งพระทัยฟื้นฟูลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัยเป็นสากล รวมทั้งเสด็จฯ ไปพระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพระราชทานลายผ้ากว่า 10 ลาย จนทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดและกลุ่มผู้ผลิตมีรายได้ที่มั่นคง
จากพระกรณียกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นางโอเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้ประกาศเชิดชูพระเกียรติและถวายเหรียญสดุดีพระกรณียกิจด้านการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมและการส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์ รวมทั้งการขับเคลื่อนวัฒนธรรม ตลอดจนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยยกย่องในพระอัจฉริยภาพด้านการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายพระเกียรติคุณด้านนี้
โอกาสนี้ มีพระดำรัสถึงการได้รับการถวายประกาศเชิดชูพระเกียรติครั้งนี้ ความว่า “ การได้รับการถวายประกาศเชิดชูพระเกียรติ ทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอแสดงความขอบคุณในนามประเทศไทย ขอบคุณไปยังผู้ได้รับการฝึกฝนอบรมจากข้าพเจ้า และผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่ปรากฎอยู่บนหนังสือ ถือเป็นวาระสำคัญของเราทั้งสอง “
การประกาศเชิดชูพระเกียรติเกิดขึ้นในโอกาสสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ เยือนสำนักงานใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามคำกราบทูลเชิญของนางโอเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลหารือในประเด็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการสนับสนุนการมีบทบาทของเยาวชนและกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีพระดำรัสถึงการทรงงานด้านงานหัตถศิลป์ ภูมิปัญญาของประเทศไทยที่ทรงนำความรู้ที่ทรงศึกษา พระปรีชาสามารถ และพระประสบการณ์ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ รวมทั้งทรงนำแนวคิดที่เป็นสากลมาสร้างสรรค์ พัฒนา ต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมให้มีความทันสมัย น่าสนใจมากขึ้น จนเกิดเป็นโครงการพระดำริ”ผ้าไทยใส่ให้สนุก” รวมถึงทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี โดยทรงเข้ามาดูแลสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง และพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นประธานที่ปรึกษา
ในโอกาสเยือนยูเนสโก กรุงปารีส ทรงแนะนำหนังสือพระนิพนธ์ที่รวบรวมพระกรณียกิจด้านต่างๆ และโครงการพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก ประกอบด้วยหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือ Thai Textiles Trend Book ซึ่งทรงเป็นบรรณาธิการบริหารตั้งแต่เล่มที่ 1 - เล่มที่ 5 ด้วยมีพระประสงค์ให้เป็นหนังสือที่อ้างอิงและรวบรวมข้อมูลด้านศิลปะที่ได้มาตรฐานสากล สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาด้านแฟชั่น เนื่องจากหนังสือด้านแฟชั่นบุ๊ก เป็นหนังสือที่มีราคาแพง ซึ่งนางโอเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวชื่นชมถึงแนวทางการทรงงานที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อการเรียนรู้และเข้าถึงองค์ความรู้สำหรับบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ ทรงเน้นย้ำถึงบทบาทของพระองค์ในการสร้างสรรค์และส่งเสริมงานผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทย พระกรณียกิจของพระองค์ในการส่งเสริมและการพัฒนาการทอผ้าพื้นเมืองของไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมการดำเนินโครงการต่าง ๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ได้แก่ โครงการออกแบและพัฒนาเว็บไซต์แฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fadhion) สนับสนุนการเรียนรู้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจได้นำไปศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ประกอบด้วยโครงการดอนกอยโมเดล และโครงการนาหว้าโมเดลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการชาติพันธุ์โมดลในภาคเหนือ และศูนย์เรียนรู้บาติกโมเดลในภาคใต้
นอกจากนี้ มีพระดำรัสถึงพระกรณียกิจด้านการเผยแพร่ชุดไทยและผ้าไทยที่โปรดให้สถานเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกร่วมเผยแพร่ภูมิปัญญาของประเทศไทย เพื่อให้ชุดไทยและผ้าไทยเป็นที่รู้จักต่อนานาชาติ รวมทั้งคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ ที่มีจุดเริ่มต้นจากปี 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยือนต่างประเทศ ทรงเห็นว่าสตรีไทยยังไม่มีชุดประจำชาติที่ชัดเจน จึงมีพระราชดำริให้ศึกษา ค้นคว้าการแต่งกายไทยสมัยต่างๆ และออกแบบชุดที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย แล้วได้พระราชทานรูปแบบชุดให้เป็นชุดประจำชาติรวม 8 แบบ ตั้งชื่อชุดตามหมู่พระที่นั่งองค์ต่างๆ ประกอบด้วยชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ โดยปัจจุบันชุดแต่งงานของสตรีไทยนิยมสวมใส่ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังตรัสกับผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกว่า ประเทศไทยได้เสนอให้ “ชุดไทย” ขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของยูเนสดกในปี 2569 ซึ่งชุดไทยเป็นผลจากพระราชวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงริเริ่มให้มีการออกแบบชุดไทยที่จะใช้ในวาระต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงคุณค่า ความงดงามและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย