ถอดรหัส “หุ้นวางมาร์จิ้น” ที่กลายเป็น "ฝันร้าย" ของนักลงทุนรายย่อย
”หุ้นค้ำประกันมาร์จิ้น” ประเด็นร้อน ๆ กับวงการหุ้นไทย ที่สร้างความปั่นป่วน ความเสียหาย จนกลายเป็นเหมือน “ฝันร้าย” ให้กับนักลงทุนรายย่อย แล้วหุ้นมาร์จิ้นคืออะไร มีประโยชน์ หรือมีโทษอย่างไร แล้วทำไมนักลงทุนรายใหญ่ ถึงเลือกใช้วิธีนนี้ในการลงทุน
เมื่อพูดถึงหุ้นที่ถูกนำไปวางค้ำประกันในช่วงเวลานี้คงทำให้นักลงทุนอกสั่นขวัญแขวนไม่น้อยเลยทีเดียว จากข่าวคราวของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในช่วงนี้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาจากการที่มีผู้ถือหุ้นนำหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทไปทำการวางคำประกันมาร์จิ้น แล้วถูกบังคับขาย หรือ Force Sell ซึ่งทำให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จนนักลงทุนรายย่อยตั้งรับไม่ทัน และหุ้นเหล่านี้ถูกนำไปวางค้ำประกันได้อย่างไร และทำไปเพื่ออะไร คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นสำหรับนักลงทุนบ้านเราไม่น้อยเลยทีเดียว ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับที่มาของหุ้นที่ถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกันก่อน
บัญชีมาร์จิ้น หรือเครดิตบาลานซ์ เป็นบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์เปิดเพื่อให้กับนักลงทุน โดยมีลักษณะของบัญชีที่เป็นสินเชื่อกับนักลงทุนในการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนจะนำสินทรัพย์มาวางไว้กับทางบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอวงเงินสินเชื่อ หรือมาร์จิ้นเพื่อทำการซื้อขายหุ้นนั่นเอง ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะเป็นเงินสด หรือหุ้นก็ได้
หรืออธิบายได้ง่าย ๆ ว่านักลงทุนใช้เงินลงทุนของตัวเองส่วนหนึ่ง และกู้ยืมเงินจากบริษัทหลักทรัพย์อีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการซื้อหุ้น ซึ่งสามารถที่จะทำได้ทั้งนักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนรายย่อย โดยแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จะมีคณะกรรมการพิจารณาความเสี่ยงว่าหุ้นตัวไหนควรให้มาร์จิ้นเท่าไร ตั้งแต่ระดับ 50/50, 60/40 ไปจนถึง 70/30 ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของหุ้นแต่ละบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทหลักทรัพย์มีการกำหนดสัดส่วนที่ 50/50 หากนักลงทุนต้องการที่จะใช้วงเงินในการซื้อหุ้น 2 ล้านบาท นักลงทุนออกเงินตัวเอง หรือนำหุ้นมาวางค้ำประกันมูลค่า 1 ล้านบาท ก็จะได้วงเงินจากบริษัทหลักทรัพย์อีก 1 ล้านบาท เป็นเหมือนการเพิ่มพลังของเงินลงทุน หรือ Leverage นั่นเอง ซึ่งนักลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ด้วยเช่นกันในอัตราที่ประมาณ 5-6% ต่อปี
ที่นี้เรามาดูกันในประเภทแรกกันก่อน คือการใช้เงินสดเป็นหลักประกัน ก็จะสามารถนำเงินสดที่วางหลักประกันไว้ รวมกับวงเงินที่ได้จากบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อหุ้นได้เลย ซึ่งสามารถที่จะซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ในตลาดหลักทรัพย์ตามที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด
แต่ถ้าหากมีการใช้หุ้นมาวางค้ำประกัน นักลงทุนจะไม่สามารถใช้วงเงินที่ได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทเดียวกับที่นำมาเป็นหลักประกันได้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้น เช่น ถ้านักลงทุนนำหุ้น AAA มาวางเป็นหลักประกัน ก็จะไม่สามารถนำวงเงินที่ได้รับไปซื้อหุ้น AAA ได้อีก เป็นต้น
และที่สำคัญไม่ว่านักลงทุนจะใช้เงินสด หรือหุ้นมาวางค้ำประกัน เมื่อนำวงเงินที่ได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อหุ้นของบริษัทใดก็ตาม ก็จะไม่สามารถนำหุ้นนั้นมาวางเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อขอวงเงินกู้เพิ่มเติมได้อีก เพราะถือว่าหลักทรัพย์นั้นก็นับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ไปในตัว
แล้วนักลงทุนหลาย ๆ คนทำไมถึงเลือกใช้ “บัญชีมาร์จิ้น” ในการลงทุน เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้น สามารถทำกำไรได้มากขึ้น เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาทด้วยเงินของเราเอง เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% เราจะได้กำไร 1 แสนบาท แต่ถ้าเราใช้บัญชีมาร์จิ้น เราจะได้รับวงเงินในการซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% เราจะได้กำไร 2 แสนบาท
พอฟังมาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าบัญชีมาร์จิ้นก็เป็นเครื่องมือการลงทุนหนึ่งที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่เหรียญไม่ได้มีด้านเดียว การลงทุนก็เช่นกัน ถ้าหุ้นในบัญชีมาร์จิ้นของเรามีราคาเพิ่มขึ้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร แถมเราสามารถที่จะขอเพิ่มวงเงินกู้ได้เพิ่มเติมตามมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
แต่ถ้าราคาหุ้นที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือหุ้นที่เราใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อปรับตัวลดลง การขาดทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาทด้วยเงินของเราเอง เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง 10% เราจะขาดทุน 1 แสนบาท แต่ถ้าเราใช้บัญชีมาร์จิ้น เราจะได้รับวงเงินในการซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง 10% เราจะขาดทุน 2 แสนบาท
และถ้าเกิดราคาหุ้นที่นำมาค้ำประกัน หรือราคาหุ้นที่เราใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อปรับตัวลดลงจนถึงเกณฑ์ที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ 35% บริษัทหลักทรัพย์จะเรียกให้นักลงทุนนำเงินสด หรือหุ้นมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม หรือ “Margin Call” ในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ถ้าเราได้รับวงเงินมาร์จิ้น 1 ล้านบาท แล้วราคาหุ้นที่เราซื้อปรับตัวลดลงถึง 30% มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งหมด จะเหลือเพียง 700,000 บาท นั่นหมายความว่ามูลค่าหลักประกันของเราจะลดลงเหลือเพียง 200,000 บาท คิดเป็นเพียง 28.57% นักลงทุนจะต้องเพิ่มหลักประกันอีก 45,000 บาทเพื่อให้อยูในเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 35%
แต่ถ้าราคาหุ้นยังคงปรับตัวลดลงไปอีกจนมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ในระดับที่ 25% ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์บังคับขายหลักทรัพย์ หรือ Forced Sell ซึ่งถ้านักลงทุนไม่สามารถนำเงินสด หรือหลักทรัพย์มาค้ำประกันให้ถึงเกณฑ์ 35% ได้ บริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนี้จะต้องทำการบังคับขายหลักทรัพย์บางส่วนของลูกค้านั้นเพื่อลดภาระหนี้ของนักลงทุนออกไป ซึ่งถ้าเกิดมีหลักทรัพย์จำนวนมาก ๆ เป็นหลักประกัน แน่นอนว่าการ Forced Sell นี้ จะเป็นฝันร้ายของนักลงทุนรายย่อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะหุ้นจำนวนมากจะถูกเทขายออกมา โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจาก “ปัจจัยพื้นฐาน” ของหุ้นตัวนั้นแต่อย่างใด
นั่นหมายความว่านักลงทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย อาจจะสามารถสร้างผลกระทบที่รุนแรงให้กับหุ้นตัวนั้น และสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อยได้อย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นการที่บริษัทใดมีหุ้นที่ใช้ในการวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นจำนวนมาก ๆ ก็เป็นเหมือนความเสี่ยงที่นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องใช้ในการประเมินการลงทุน และยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของหุ้นตัวนั้นอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "หุ้นไทย" รั้งบ๊วยภูมิภาค ครึ่งปีดัชนีฯทรุด -15% ลึกสุดรอบ 5 ปี "การเมือง-ภาษีสหรัฐฯ" กดดัน
- "หยวนต้า" มองชุมนุมไม่กระทบ "หุ้นไทย" ลุ้นศาลฯชี้ชะตา "นายกฯ" แนะจับตาเจรจา "ภาษีสหรัฐฯ"
- ตลท.เผยรายชื่อ 20 หุ้น “วางมารร์จิ้น” สูงสุด ณ 30 พ.ค.68
- หุ้นไทย 6 เดือนแรก"ทรุดหนัก" ลุ้นปัจจัยคลี่คลายดันดัชนีฟื้น ตัวไหนน่าลงทุนเช็กเลย!
- ถอดรหัส “หุ้นวางมาร์จิ้น” ฝันร้าย นักลงทุนรายย่อย l What's up Wealth