Google เจอศาลตัดสิน ต้องจ่ายชดเชย 314 ล้านดอลลาร์ ปมแอบดูดข้อมูล Android โดยไม่บอกผู้ใช้
ผู้ใช้ Android กว่า 14 ล้านรายในแคลิฟอร์เนียยิ้มร่าเตรียมรับเงินชดเชย หลังศาลตัดสินว่า Google ละเมิดความเป็นส่วนตัว ถ่ายโอนข้อมูลจากมือถือแบบลับ ๆ เพื่อประโยชน์ทางโฆษณา ขณะบริษัทยืนยันไม่ผิด พร้อมลั่นเตรียมอุทธรณ์ แถมยังมีคดีคล้ายกันจ่อฟ้องอีกชุดใหญ่จากทั่วสหรัฐฯ
มหากาพย์ความเป็นส่วนตัวที่สะเทือนวงการเทคโนโลยีสหรัฐฯ ถึงจุดเดือด เมื่อคณะลูกขุนในรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินให้ Google ต้องจ่ายค่าเสียหายมูลค่ามหาศาลถึง 314.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,500 ล้านบาท ให้แก่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน Android ราว 14 ล้านราย จากกรณีแอบถ่ายโอนข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม
ต้นตอวิกฤตใหญ่นี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 จากคำฟ้องที่เปิดเผยว่า Google แอบรวบรวมข้อมูลจากโทรศัพท์ Android ที่แม้จะ “ไม่ได้ใช้งาน” อยู่ในขณะนั้นก็ตาม โดยข้อมูลเหล่านั้นถูกนำไปใช้เพื่อการโฆษณาแบบเจาะกลุ่ม (targeted advertising) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจของธุรกิจโฆษณาดิจิทัลของบริษัท
ศาลชี้ชัด ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของชาวแคลิฟอร์เนีย
คณะลูกขุนระบุว่า Google ละเมิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างชัดเจน และสั่งให้จ่ายเงินชดเชยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ในรัฐดังกล่าวเท่านั้น
Google ไม่ยอมรับคำตัดสิน
ด้านนายโฮเซ่ คาสตาเนด าโฆษกของ Google ออกมาโต้แย้งคำตัดสินดังกล่าว โดยระบุว่า "คำตัดสินของศาลเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้บริการซึ่งจำเป็นต่อความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ Android"
พร้อมกันนี้บริษัทยังเตรียมยื่นอุทธรณ์โดยยืนยันว่า การถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ครอบคลุมภายใต้นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อตกลงในการใช้บริการ พร้อมระบุว่า “ไม่พบว่ามีผู้ใช้คนใดได้รับอันตรายจากเหตุการณ์นี้”
อย่างไรก็ตามข้อแก้ต่างเหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับคณะลูกขุน ที่มองว่าการแอบดูดข้อมูลจากอุปกรณ์ของผู้บริโภค “โดยไม่แจ้งและไม่ขออนุญาต” คือการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไม่อาจละเลยได้
หลายคดีเรียงแถวจ่อฟ้องอีกเพียบ
Google ยังต้องเตรียมรับมือกับคดีฟ้องร้องลักษณะเดียวกันจากกลุ่มผู้ใช้ Android ในรัฐอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมีแผนจะเริ่มกระบวนการพิจารณาในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า งานนี้ดูท่าว่า “ยักษ์ใหญ่แห่งโลกดิจิทัล” จะต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากคลื่นลูกใหม่แห่งการเรียกร้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างจริงจัง
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO