ทำความรู้จัก "บาทเนต" ระบบการโอนเงินที่มีมูลค่าสูงระหว่างธนาคาร
ทำความรู้จัก "บาทเนต" ระบบการโอนเงินที่มีมูลค่าสูงระหว่างธนาคารต่างๆ เป็นการโอนเงินแบบเรียลไทม์
บาทเนต คืออะไร?
ระบบบาทเนต (BAHTNET - Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน และสถาบันที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท. ในลักษณะ Real-Time Gross Settlement :RTGS
เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2538 วัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการชำระดุลระหว่างสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท.และเพื่อให้การโอนเงินสำหรับบุคคลที่สามมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย
โดยก่อนที่จะมีบริการ ระบบบาทเนต การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยการใช้เช็ค ซึ่งผู้รับโอนเงินจะไม่ได้รับเงินทันที เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเรียกเก็บและการชำระเงินระหว่างธนาคารผู้สั่งจ่ายและธนาคารผู้รับโอนก่อน ผู้รับโอนเงินจึงยังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากการชำระเงินไม่ได้มีผลสิ้นสุดทันที (Finality) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของระบบการชำระเงินโดยรวมได้
ผู้ใช้บริการระบบบาทเนต
ผู้ใช้บริการระบบบาทเนตจะต้องมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ใช้บริการปัจจุบันประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หน่วยงานภาครัฐ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และส่วนงานภายในของ ธปท.
ตามระเบียบ ธปท. ว่าด้วยการบริการบาทเนต พ.ศ. 2549 ผู้ใช้บริการของระบบสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
- ผู้ใช้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ให้ใช้บริการระบบาทเนตโดยใช้คอมพิวเตอร์ลูกข่ายของตนเอง (Direct Member)
- ผู้ใช้บริการสมทบเป็นผู้ใช้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ให้ใช้บริการระบบาทเนตภายใต้คอมพิวเตอร์ลูกข่ายของผู้ใช้บริการบาทเนตรายอื่น (Associated Member)
ช่องทางการเชื่อมโยงกับระบบบาทเนต
ผู้ใช้บริการบาทเนตสามารถเชื่อมโยงกับระบบบาทเนต ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
1. การเชื่อมโยงและรับส่งข้อความผ่านเครือข่าย S.W.I.F.T ซึ่งเป็นเครือข่ายสากลที่ใช้ในการส่งข้อความทางการเงิน ผู้ใช้บริการจะต้องส่งข้อความตามรูปแบบมาตรฐานของ S.W.I.F.T
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการที่ใช้ระบบ S.W.I.F.T สามารถพัฒนาระบบงานภายในให้เชื่อมโยงกับ ธปท. โดยตรงในลักษณะ Straight-through Processing (STP) ได้
2. การเชื่อมโยงและรับส่งข้อความผ่าน BOT WEB PORTAL ในระบบ Electronic Financial Service (EFS) ของ ธปท. โดยใช้บริการ BAHTNET Service และผู้ใช้บริการที่ส่งข้อความผ่านช่องทางนี้สามารถส่งข้อความตามรูปแบบที่ ธปท. ได้พัฒนาขึ้นในรูปแบบที่มีลักษณะเดียวกับรูปแบบมาตรฐานของ S.W.I.F.T เช่นเดียวกัน
ผู้ใช้บริการทุกสถาบันทั้งที่เป็นสมาชิก S.W.I.F.T. และที่ไม่เป็นสมาชิกจะต้องติดตั้ง BAHTNET Service เพื่อใช้ในการสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวกับยอดคงเหลือหรือความเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีตราสารหนี้ รวมทั้งใช้ในการจัดการคิวสำหรับรายการที่ส่งผ่านระบบบาทเนตและการจัดการรายงานสิ้นวัน
บริการในระบบบาทเนต
ระบบบาทเนตเปิดให้บริการทุกวันทำการธนาคารตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึง 17.30 น. โดยมีบริการประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. การโอนเงิน (Funds Transfer)
- ผู้ใช้บริการสามารถสั่งโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการอื่นหรือโอนเงินระหว่างบัญชีของตนเองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
2. การโอนเงินเพื่อบุคคลที่สาม (Third Party Funds Transfer)
- เป็นการโอนเงินตามคำสั่งของลูกค้าที่สั่งให้ธนาคารผู้สั่งโอนทำการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับผลประโยชน์ซึ่งอยู่อีกธนาคารหนึ่ง โดยการโอนเงินดังกล่าวดำเนินการภายในวันเดียวกัน (same day basis)
3. การสอบถามข้อมูล (Inquiry)
- ผู้ใช้บริการสามารถใช้ระบบบาทเนตเรียกดูข้อมูลที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ยอดคงเหลือ ความเคลื่อนไหวในบัญชีและสอบถามรายการรับส่งข้อมูลที่รอดำเนินการและที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว
4. การสื่อสารระหว่างกัน (Bilateral Communication)
- ผู้ใช้บริการสามารถส่งข่าวสารผ่านระบบบาทเนตไปยังผู้ใช้บริการอื่น ๆ ได้ตลอดเวลาที่ระบบเปิดให้บริการ
5. การประกาศข้อความ (Message Broadcast)
- โดยปกติจะเป็นการประกาศข้อความของธนาคารแห่งประเทศไทยถึงผู้ใช้บริการทั้งหมด หากผู้ใช้บริการรายใดต้องการส่งข่าวสารให้ผู้ใช้บริการทั้งหมดในระบบทราบก็สามารถขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการประกาศให้ได้
6. การชำระดุลสุทธิพร้อมกันหลายฝ่าย (Multilateral Funds Transfer - MFT)
- เป็นกระบวนการโอนเงินพร้อมกันหลายฝ่ายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการชำระดุลการหักบัญชีของผู้ใช้บริการ (ทำการ debit และ credit บัญชีพร้อมกัน) เช่น ดุลการหักบัญชีเช็คและดุลการโอนเงิน
ค่าธรรมเนียมการใช้บริการบาทเนตที่ธนาคารคิดกับลูกค้า
ธปท. ได้พัฒนาระบบบาทเนตขึ้นเพื่อเป็นสาธารณูปโภคทางการเงินเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินของประเทศโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นค่าบริการในระบบบาทเนตจึงเป็นราคาที่จูงใจให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการโอนเงินในระบบตราสาร (paper-based)
สำหรับค่าธรรมเนียมที่ธนาคารผู้ใช้บริการคิดกับลูกค้านั้นเป็นการแข่งขันกันโดยเสรีตามกลไกตลาด โดยในระยะแรก ธปท.จำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นสูงสุด (ceiling) เพื่อให้ค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ธปท. ได้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงิน (ตามประกาศ ธปท.สรช. (03) ว.3414/2543 เรื่องการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดในการโอนเงินเพื่อบุคคลที่สาม ผ่านระบบบาทเนต) โดยให้การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นไปตามดุลพินิจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
ค่าธรรมเนียมการใช้บริการบาทเนตที่ ธปท. คิดกับสถาบันสมาชิกระบบบาทเนต
1. ค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้บริการบาทเนตรายเดือน
- ผู้ใช้บริการบาทเนตที่มีคอมพิวเตอร์ลูกข่าย 3,500 บาท
- ผู้ใช้บริการบาทเนตสมทบรายละ 500 บาท
2. ค่าธรรมเนียมสำหรับบริการแต่ละประเภทผ่านระบบบาทเนตและคำสั่งต่าง ๆ ผ่านระบบการเชื่อมโยงเพื่อชำระราคาหลักทรัพย์ โดย ธปท. จะคิดค่าธรรมเนียมและค่าปรับแต่ละประเภทตามจำนวนรายการที่เกิดขึ้นแยกตามช่วงเวลารายการมีผลสมบูรณ์
การควบคุมความปลอดภัยในระบบบาทเนต
เนื่องจากระบบบาทเนตเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินมูลค่าสูง ธปท. จึงได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม โดยผู้ใช้บริการที่ส่งข้อความมายังระบบบาทเนตโดยผ่านช่องทาง S.W.I.F.T นั้น จะต้องมีกระบวนการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานของ S.W.I.F.T ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก
สำหรับผู้ใช้บริการที่ส่งข้อความมายังระบบบาทเนตโดยผ่านช่องทาง EFS จะมีระบบการรักษาความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยี Digital Signature โดยผู้ส่งข้อความจะต้องมี Private Key ใน Token ประจำตัวในการสร้าง Digital Signature กำกับในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งมายังระบบบาทเนต ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ระบบบาทเนตสามารถรักษาความลับพร้อมทั้งป้องกันมิให้ผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องล่วงรู้ข้อมูลได้ สามารถยืนยันและพิสูจน์ตัวตนของผู้ส่งและผู้รับรายการ ผู้ส่งและผู้รับไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดได้ และสามารถรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบ รวมทั้งระบบบาทเนตยังมีการบันทึกข้อมูลที่รับ-ส่งในระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย