‘สมศักดิ์’สั่ง สสจ.-อย. ปูพรมกวาดล้างสินค้ากัญชาเถื่อนทั่วไทย ฟันโทษหนัก
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเด็กหญิง 2 ขวบ 6 เดือน กินเยลลี่หมีผสมกัญชาจนต้องนำส่งโรงพยาบาลว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราห่วงใยมาโดยตลอด เพราะมีข่าวเกิดขึ้นมากมายในการเข้าถึงกัญชาของเยาวชนและส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย หลังทราบข่าวนี้ ตนได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ดำเนินการกวาดล้างอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาทำเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่มหรืออื่นๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชาเกินกว่ากฎหมายกำหนดสามารถจับ-ปรับ และนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไปได้ทันที
“อาหารที่ใส่กัญชา ถ้าไม่ขออนุญาต ไม่แสดงฉลาก มีโทษตั้งแต่ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ไปจนถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าสืบต่อไปว่าผลิต หรือนำเข้า ไม่ขออนุญาต หรือพบว่ามีสาร THC เกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากผลิตภัณฑ์กัญชา อาหาร ขนมต่างๆ แล้ว เรื่องการตรวจสอบร้านค้าที่ขายกัญชา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในทุกสัปดาห์ โดยร้านค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต จะถูกดำเนินคดีร่วมกับพนักงานตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข จะถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ถ้าหากใครมีข้อสงสัย หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือกรมการแพทย์แผนไทยฯ
“วันนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ช่วยกันในการแจ้งเบาะแส เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป สิ่งที่ผมห่วงใยมาโดยตลอดคือการที่เด็ก เยาวชน เข้าถึงกัญชาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอยกข้อมูลจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ จากการเก็บข้อมูลสำรวจ เฉพาะในปี พ.ศ. 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี สูงขึ้น 10 เท่า จาก 1-2% ในปี 2563 เป็น 9.7% ดังนั้น เราต้องเดินหน้าทำกัญชาให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อลดผลกระทบต่อเด็ก เยาวชนและสังคม” นายสมศักดิ์ กล่าว.