พลิกดินแล้งเป็นสวนผลไม้ ต่อยอด “ฝายห้วยน้ำพร้าฯ” จ.อุตรดิตถ์
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งเสริมการปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ สนับสนุนการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ ควบคู่ไปกับการทำการตลาดอย่างครบวงจร สร้างรายได้อย่างมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ
น.ส.บัวหา อินปาจร ชาวบ้าน ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยระหว่างต้อนรับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการฯ
ในโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฝายห้วยน้ำพร้าพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เมื่อต้นเดือน ก.ค.2568 ที่ผ่านมา
น.ส.บัวหา อินปาจร ชาวบ้าน ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
น.ส.บัวหาเล่าว่า เดิมครอบครัวปลูกข้าวโพด เป็นพืชเชิงเดี่ยว เพราะพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ แต่รายได้ก็ยังไม่ดี หลังจากมีโครงการฝายห้วยน้ำพร้าพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทำให้พื้นที่มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกพืชชนิดอื่น ๆ โดยพื้นที่ 19 ไร่ แบ่งมาปลูกข้าว กข.10 จำนวน 4 ไร่ สำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วน 15 ไร่ ที่เหลือ ได้ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองนางพญา 300 ต้น แซมด้วยลองกอง อะโวคาโด และกาแฟ
“ปีที่ผ่านมา ทุเรียนให้ผลผลิต 4,000-5,000 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 80-90 บาท เมื่อรวมกับผลผลิตของพืชอื่น ๆ ทำให้มีรายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อปี ซึ่งดีกว่าเมื่อก่อนที่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ตอนนี้ที่นี่มีน้ำ มีคลอง มีฝายกั้นน้ำทำให้น้ำไหลเข้าถึงพื้นที่การเกษตรได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ดีใจที่มีโครงการฝายห้วยน้ำพร้าพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทำให้มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก ผลผลิตดีมีคุณภาพ รายได้ก็ดีขึ้น ทุกวันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก มีบ้าน มีรถ มีเงิน สามารถส่งลูกเรียนหนังสือในระดับสูงขึ้นได้อย่างไม่ขัดสน และชาวบ้านทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในโครงการร่วมกันอย่างทั่วถึง”
สำหรับการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงการนั้น นายเอนก ชื่นอารมณ์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงการอย่างคุ้มค่าและต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การนำพันธุ์พืชที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ มาส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูก โดยเฉพาะพืชที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น คือ ทุเรียนหมอนทองนางพญา ซึ่งพัฒนาพันธุ์มาจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 875 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัมต่อไร่
มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในวิธีการผลิตที่ถูกต้องได้มาตรฐาน รวมถึงสร้างกลไกการตลาดให้เกษตรกร เช่น ทุเรียนที่ปลูกบนพื้นที่เนินเขาจะมีความชื้นหน้าดินดี เพราะมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ ทำให้ทุเรียนมีรสชาติอร่อย หวาน มัน เนื้อแห้ง แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ และรูปทรงก็ออกมาสวยงาม
สำหรับกาแฟได้ส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์โรบัสต้า ตอนนี้มีประมาณ 76 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 97 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 7.38 ตัน สร้างรายได้ประมาณ 184,397 บาทต่อปี โดยปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนางพญา และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลนางพญา เพื่อให้การผลิตทุเรียนคุณภาพเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนา ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน บริหารจัดการและจัดการด้านการตลาด ซึ่งเกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างเต็มที่
โครงการฝายห้วยน้ำพร้าพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2534 ความว่า
ให้พิจารณาประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรบ้านน้ำพร้า ตำบลนางพญา และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะเรื่องคมนาคม รวมทั้งให้การช่วยเหลือในเรื่องสาธารณสุข การประกอบอาชีพ และการชลประทานตามความเหมาะสม
สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริดำเนินการก่อสร้างในปี 2536 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรบ้านน้ำพร้า หมู่ 1 และหมู่ 5 ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 500 ไร่ เกษตรกร 86 ครัวเรือน ปลูกข้าวนาปี พันธุ์ กข.10 ในเขตชลประทาน 200 ไร่ ให้ผลผลิต 450 - 500 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้รวม 940,000 บาท
สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทองนางพญา มีเกษตรกรที่เพาะปลูก 175 ครัวเรือน พื้นที่ 1,885 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 875 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,200 กิโลกรัม สร้างรายได้รวมปีละ 73,500,000 บาท รวมถึงกาแฟมีเกษตรกรเพาะปลูก 25 ครัวเรือน ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 97 กิโลกรัม มีรายได้รวมปีละ 184,000 บาท
ทั้งนี้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในการจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึงรวมถึงช่วยกันบำรุงรักษาอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าว : “พระปาราชิก” แต่ “ลาสิกขา” ก่อน จะกลับมา “บวชใหม่” ได้หรือไม่
"มหาเถรฯ" จ่อเรียกตัวมาพบ "พระ" ที่ ตร.มีหลักฐานโยงสีกา ทั้งโอนเงิน-แชตไลน์