ธปท.ชี้4ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ เกาะติด’การเมือง’ในประเทศ
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากผลกระทบของนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่ใกล้กำหนดเส้นตายระยะผ่อนปรนภาษี รวมถึงสถานการเสถียรภาพการเมืองไทยกำลังถูกเพิ่มน้ำหนักต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจไทย
นางสาวปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปชะลอลงตามแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอ แต่การผลิตภาคยานยนต์มีสัญญาณดีขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์นั่ง โดยระยะต่อไปต้องติดตาม คือ
1.นโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก 2.พัฒนาการของภาคการท่องเที่ยว 3. การปรับตัวของภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่ สูงขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 4. ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์และปัจจัยการเมืองภายในประเทศ
“ปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ธปท.ติดตามในระยะข้างหน้า ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้าต้องติดตามการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มชะลอลง แม้ว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ เดือน มิ.ย. 2568 ปรับเพิ่มขึ้นจากทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจยังเป็นอุปสรรคในลำดับต้น”
เศรษฐกิจเดือนพ.ค. ชะลอตัวเล็กน้อย
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ค.2568 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้านการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.6% จากเดือนก่อน จากหมวด อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ เพราะบางส่วนเร่งผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลังไปแล้ว ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน
ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัวต่อเนื่อง จากรายรับการท่องเที่ยวลดลง 7% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 2.3 ล้านคน ลดลง 2.9% จากเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางระยะไกล (long-haul) อาทิ ออสเตรเลียและยุโรปไม่รวมรัสเซีย ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงเป็น 2 เท่า ของกลุ่มนักเดินทางระยะสั้น (short-haul) แต่กลุ่มนักเดินทางระยะสั้น เพิ่มขึ้นหลายสัญชาติ อาทิ จีน มาเลเซียและญี่ปุ่น
ด้านการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.6% จากเดือนก่อน หลังเร่งไปในเดือนก่อน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 0.2% หรือทรงตัว จากเดือนก่อน โดยหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หมวดบริการปรับลดลง รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง4 เดือนติดต่อกัน จากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่น ปรับลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว 18.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลางจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ แต่ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางยังขยายตัวจากปีก่อนตามการเบิกจ่ายเงินบำนาญ ค่าตอบแทนบุคลากร และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และการเบิกจ่ายลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 8.6% เดือนก่อน และ เพิ่มขึ้น 17.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามอุปสงค์โลกที่ดีต่อเนื่อง และการเร่งส่งออกในช่วงระยะผ่อนผันการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่ ภาคยานยนต์มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่ปรับดีขึ้น ทั้งการผลิตและยอดขายในประเทศ
“เงินเฟ้อ” ลดลงจาดเดือนก่อน
นางสาวปราณี กล่าวว่า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.57% หรือ ลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานติดลบใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.09% หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหาร สำเร็จรูป
ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้น 0.3% จากเดือนก่อน ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรวมและรายใหม่ปรับลดลง
ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 300 ล้านดอลลาร์ จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน อย่างไรก็ดี ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนตามดุลการค้าที่กลับมาเกินดุล
ทางด้าน เงินบาทต่อดอลลาร์ ณ 25 มิ.ย. 2568 อยู่ที่ 32.63 บาท หรือ ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 68 “ปรับแข็งค่าขึ้น” จากเดือนก่อน ตามพัฒนาการของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท ในปัจจุบันยังสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและสกุลอื่นในภูมิภาค ที่ผ่านมาธปท. ได้เข้ามาดูแลตามปกติ
“ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยภายนอก คือ ดอลลาร์ที่อ่อนเป็นสำคัญ หรืออ่อนค่าลงมาต่ำสุด รอบ 13 ปี คนเริ่มขายดอลลาร์ถืออย่างอื่นแทน ยังต้องติดตามพัฒนาการต่อไป”
“กอบศักดิ์” คาดเศรษฐกิจไทยเสี่ยงต่ำ1.5%
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า ในช่วงปลายปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพคาดการณ์เศรษฐกิจไทยคาดขยายตัวที่ระดับ 3% อยู่ภายใต้การประมาณการเติบโตจากหลายปัจจัยขับเคลื่อนทั้งจาก การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรง และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่อง
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนธนาคารได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจลงเหลือ 2% ภายใต้ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยมมีโอกาสขยายตัวต่ำไปที่ระดับ 1.5% ได้ จากความเสี่ยงขาลง downside มากขึ้น จากหลายแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะส่งออก และท่องเที่ยว รวมแผ่นดินไหว และผลกระทบจากสงครามการค้าจาก “ทรัมป์” รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้นยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ถือว่า “ยาก”และ “ไม่ง่าย”ในการรักษาการเติบโตในปีนี้
หลักๆ จากแรงต้านที่มีมากขึ้น ส่งออกอาจไม่ได้ดีเหมือนที่คาดการณ์ไว้ แม้ครึ่งปีแรกส่งออกเติบโตได้ดี จากการเร่งส่งออกเพื่อหนีภาษี แต่ครึ่งปีหลัง การซื้อเพื่อสต็อกอาจลดลง ทำให้แรงส่งจากการส่งออกหายไป
ห่วงการเมืองฉุดท่องเที่ยวไทย
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังมาจาก ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวลังเลที่จะเดินทางมา และปัจจุบันการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งในภาคการท่องเที่ยวอีกต่อไป สวนทางกับญี่ปุ่นและมาเลเซียที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมามากขึ้น
“ในอดีตเลยเคยเจอผลกระทบมาหลายด้าน ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทั้งสินามิ ไข้หวัดนก เผาเมือง ประท้วงต่างๆ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดจะจบภายใน 4 เดือน นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา แต่ครั้งนี้ผ่านไปแล้ว 5 เดือนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับ ท่องเที่ยวเรากลายเป็นติดลบ ดังนั้นการฟื้นตัวเป็นเรื่องที่ท้าทายมากหลังจากนี้”
จับตาร้านอาหาร-โรงงานปิดตัว
นอกจากนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังมาจากปัญหาการเมืองและความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบาย ที่ลดทอนความกระฉับกระเฉงในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของภาครัฐให้ลดลง จากความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างๆ ที่กระทบทำให้ภาคธุรกิจเกิดความลังเลใจในการตัดสินใจลงทุนหรือดำเนินธุรกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถามว่าปัจจัยทางการเมืองจะรุนแรง หรือกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ออก ว่าจะจบลงอย่างไร และกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และหากดูในอดีต ประเทศไทยก็เคยมีในช่วงที่เศรษฐกิจยังสามารถไปได้แม้มีเหตุการณ์ทางการเมือง
“การเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 2% ยอมรับยาก และไม่ง่าย เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้น ข้างนอกประเทศทรัมป์ก็พร้อมทำในสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก ความขัดแย้งจากสงครามภูมิรัฐศาสตร์ก็มีความไม่แน่นอนสูง เรื่องท่องเที่ยวก็น่ากังวลใจ ดังนั้นประเทศขณะนี้น่ากังวล หากถามนักธุรกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองก็คงกลัว และอาจชะลอการลงทุนได้ ดังนั้นเรามองว่าเศรษฐกิจไทยกรณีแย่ๆอาจลงไปได้ที่ระดับ 1.5%”