ไร่ชาญี่ปุ่นส่อวิกฤต แม้กระแสมัทฉะโตแรง 2 เท่า-ส่งออกทะลุเกิน 50%
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มัทฉะมีค่าต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 1,384 หน่วย ขณะที่โกจิเบอร์รี่อยู่ที่ 253 หน่วย ดาร์กช็อกโกแลต 227 หน่วย พีแคน 180 หน่วย และวอลนัท 135 หน่วย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามัทฉะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กระแสการบริโภคมัทฉะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2025 ผงมัทฉะจะมียอดนำเข้าสูงกว่าใบชาเขียวเป็นครั้งแรก สอดคล้องกับความนิยมสินค้าเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด
สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้กระแสมัทฉะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยในประเทศไทย ยอดเอ็นเกจเมนต์ ที่เกี่ยวข้องกับมัทฉะพุ่งสูงถึง 5.2 ล้านครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน และผู้บริโภคประมาณ 38% ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกพร้อมทั้งชื่นชอบในรสชาติอันนุ่มละมุนของเครื่องดื่มสีเขียวชนิดนี้
ความนิยมดังกล่าวไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายตัวอย่างรวดเร็วในระดับโลกเช่นกัน ในสหรัฐอเมริกา ร้านเครื่องดื่มมัทฉะขนาดเล็กใจกลางนครลอสแอนเจลิสกลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดย “แซค แมนแกน” ผู้ก่อตั้งร้าน “เคตเทิล ที” เปิดเผยว่า ในเมนูมัทฉะทั้ง 25 ชนิดของร้าน มีเพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่ยังไม่หมดสต๊อก และยอมรับว่าร้านต้องเผชิญกับปัญหาสินค้าขาดตลาดอย่างต่อเนื่อง
เขากล่าวว่า “มัทฉะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ด้วยกลิ่นหญ้าเข้มข้น สีสด และคุณสมบัติที่ทำให้รู้สึกสดชื่น แต่มันได้รับความนิยมยิ่งกว่าเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” ความนิยมที่ว่านี้ได้ผลักดันให้มัทฉะกลายเป็น “จุดสัมผัสทางวัฒนธรรม” ในโลกตะวันตก ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในทุกที่ตั้งแต่เมนูไอศกรีมไปจนถึงกาแฟในร้านสตาร์บัคส์
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว กลับมีปัญหาด้านความยั่งยืนที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ในเมืองซายามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งผลิต มัทฉะชั้นดีของโลก “มาซาฮิโระ โอคุโตมิ” ทายาทรุ่นที่ 15 ของธุรกิจชาครอบครัว เปิดเผยว่า ความต้องการที่พุ่งสูงเกินกำลังการผลิตทำให้เขาต้องหยุดรับคำสั่งซื้อบางรายการไปก่อน เนื่องจากกระบวนการผลิตมัทฉะเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและใช้เวลาอย่างยิ่ง
โดยใบชาพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า “เทนฉะ” จะต้องถูกบังแสงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพและรสชาติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคัดแยก กำจัดก้าน และบดอย่างช้าๆ ในเครื่องจักรแบบโบราณ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งฝีมือและความอดทนอย่างสูง นายโอคุโตมิได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า
“มันต้องใช้เวลาฝึกฝนนานหลายปี จึงจะทำมัทฉะได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งมันเป็นความพยายามในระยะยาวที่ต้องใช้อุปกรณ์ แรงงาน และการลงทุน ซึ่งผมดีใจที่โลกให้ความสนใจในมัทฉะของเรา แต่ในระยะสั้น มันแทบจะเป็นภัยคุกคาม เพราะเราไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์ได้ทัน” แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตชาขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อลดต้นทุน แต่เขาเห็นว่าการขยายไร่ชาในลักษณะดังกล่าวอาจนำไปสู่การลดทอนคุณภาพของมัทฉะลง และแทบจะเป็นไปไม่ได้ในพื้นที่ชนบทที่มีข้อจำกัดทั้งด้านภูมิประเทศและแรงงาน
ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมชา เนื่องจากจำนวนไร่ชาได้ลดลงเหลือเพียง 25% ของพื้นที่ที่มีอยู่เมื่อ 20 ปีก่อน เกษตรกรมีอายุมากขึ้น และการสืบทอดกิจการไปยังคนรุ่นใหม่ก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้และพัฒนาฝีมืออย่างยาวนาน
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของมัทฉะจึงเปรียบเสมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งคือโอกาสในการสร้างรายได้และเผยแพร่วัฒนธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งคือความท้าทายอย่างใหญ่หลวงในการรักษาคุณภาพและความยั่งยืนของแหล่งผลิตดั้งเดิม ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2567 มัทฉะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของชาเขียวจำนวน 8,798 ตันที่ส่งออกจากญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อสิบปีก่อน แต่การเติบโตเชิงปริมาณในลักษณะนี้ หากปราศจากการวางแผนอย่างรอบคอบ ก็อาจกลายเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวได้
ท้ายที่สุดแล้ว เบื้องหลังแก้วมัทฉะสีเขียวสดที่หลายคนถืออยู่ในมือ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของธรรมชาติ วัฒนธรรม และความพยายามของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทุ่มเทเพื่อให้เครื่องดื่มนี้สามารถคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนและสมดุล.