‘ทหารไทย’ สูญเสียขาจากกับระเบิดในพื้นที่ปลอดภัย จุดเสี่ยงที่ไม่ควรมีอีกแล้ว?
จากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ“นายนิกรเดช พลางกูร” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวประเด็นประท้วงการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ว่า จากกรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 ก.ค. เกิดเหตุกำลังพลของไทยเหยียบกับระเบิดที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ซึ่งประเด็นทุ่นระเบิด กองทัพบกและกองทัพภาคที่ 2 ได้แถลงไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ภายหลังการตรวจสอบของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ยืนยันว่า ทุ่นระเบิด 8 ลูก ที่พบเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ และไม่มีในการใช้งาน หรืออยู่ในคลังอาวุธของไทย โดยได้มีการประชุมฝ่ายเลขานุการของศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา (ศบ.ทก.) ซึ่งเป็นการประชุมระดับปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยน และจัดเตรียมข้อมูล เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้ที่ประชุม ศบ.ทก. ที่มีกำหนดประชุมในวันที่ 21 ก.ค. เพื่อพิจารณาต่อไป เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีกรอบดำเนินการหลายกรอบ ฝ่ายไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าวต่อ : ‘รัฐบาลไทย’ ประณาม ‘เขมร’ วางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลใหม่ ละเมิดอธิปไตยไทย
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจ“ปราชญ์ สามสี” ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นเหตุทหารไทยเหยียบกับระเบิด PMN-2 ที่เนิน 481 จ.อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นพื้นที่เคยกวาดล้างจนปลอดภัย จุดใกล้เหตุปะทะไทย-กัมพูชา เมื่อเดือน พ.ค. ที่มีทหารกัมพูชาเสียชีวิต โดยฝ่ายตรงข้ามเป็นหน่วยวางระเบิดโดยตรง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กับระเบิดดังกล่าวเป็นแค่อุบัติเหตุ หรือแผนลอบทำร้ายกันแน่
โดยเจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า"กับระเบิดที่เนิน 481 ความบังเอิญ หรือแผนลอบทำร้าย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีเหตุสะเทือนใจเกิดขึ้นกับทหารไทย 3 นาย จากหน่วยลาดตระเวนบริเวณ “เนิน 481” จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในนั้น คือ "พลทหารธนพัฒน์ ไหวยวน" ที่ต้องสูญเสียขาข้างหนึ่งจากกับระเบิดชนิด PMN-2 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “พื้นที่ที่เคยถูกกวาดล้างทุ่นระเบิดจนปลอดภัย 100%” และส่งมอบคืนให้หน่วยปกครองท้องถิ่นไปตั้งแต่ปี 2564 แต่กลับพบทุ่นระเบิด “ใหม่” ถึง 3 ลูกในบริเวณใกล้เคียง"
นอกจากนี้ จุดน่าสังเกต คือ พื้นที่นี้อยู่ห่างจากจุดปะทะ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ไม่มากนัก ซึ่งเป็นวันแรกของเหตุการณ์รุนแรงระหว่างไทยกับกัมพูชา และในวันนั้น ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย ซึ่งคาดว่า เป็น “หน่วย Sapper” หรือหน่วยวิศวกรรมสนาม ผู้เชี่ยวชาญการวางกับระเบิดโดยตรง ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ออกมายืนยันว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุอยู่ในฝั่งไทย และ “ไม่ขอรับผิดชอบ”
อย่างไรก็ตาม "จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมไทยควรถามกลับว่า กับระเบิดที่คร่าขาทหารของเราเป็นแค่อุบัติเหตุ หรือเป็นแผนวางลอบทำร้ายหลังปะทะ เสียงของระเบิดดังแค่เสี้ยววินาที แต่เสียงของความจริงและความยุติธรรม กำลังรอคำตอบจากเพื่อนบ้านของเรา"
ขอบคุณข้อมูล : ปราชญ์ สามสี