จุฬาฯ จับมือคลัง เปิด ป.โท การจัดการภาษี หลักสูตรแรกของไทย
จุฬาฯ จับมือกระทรวงการคลัง เปิดตัวหลักสูตร ป.โท วิชาการจัดการภาษี หลักสูตรแรกของประเทศไทย เรียนรู้แบบสหวิชา พัฒนาบุคลากรด้านภาษี ทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ เปิดสอนครั้งแรกช่วงปลายปีการศึกษา 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกความร่วมมือทางวิชาการกับ กระทรวงการคลัง เพื่อพัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาษี หลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับการศึกษาหลักสูตรสหสาขาวิชา พัฒนาบุคลากรคุณภาพของประเทศเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง เป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและนโยบายของภาครัฐเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาด้านการจัดการภาษีหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนระบบภาษีของประเทศให้ทันสมัย โปร่งใส และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัล
หลักสูตรนี้จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิชาการกับการปฏิบัติจริง และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมด้านการจัดการภาษีที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าว คือ ผลลัพธ์ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสององค์กรที่สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีเป้าหมายในการสร้างบุคลากร ทั้งในกลุ่มของข้าราชการกระทรวงการคลังและบุคลากรทั่วไป ให้เป็นผู้มีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการภาษี โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างผลงานการศึกษาในสาชาวิชาการบริหารจัดการภาษีได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
มหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเป็นบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านภาษีและบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติงานอยู่ในภาครัฐหรือภาคเอกชน จะถือเป็นกลุ่มบุคคลคุณภาพที่จะต่อยออดส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง
พร้อมทั้งมีนโยบายในการสนับสนุนบุคลากรของกระทรวงการคลัง ให้ได้รับการพัฒนาทางการศึกษาในหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ต่อภารกิจของหน่วยงาน ผ่านการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรของกระทรวงการคลัง มากกว่า 30 ทุน เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการที่มีความมุ่งมั่น และมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ ให้ได้รับการพัฒนาต่อยอด และนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรนี้ มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาภารกิจของกระทรวงการคลังให้เป็นเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรง และขับเคลื่อนนโยบายทางการคลังและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
บูรณาการความรู้ 5 คณะ
รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการจัดการภาษีของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมเพื่อรองรับความท้าทายในมิติใหม่
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันซึ่งได้ลงนาม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาขององค์กรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งศาสตร์ด้านการจัดการภาษี กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การบัญชี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว เป็นการพัฒนาร่วมกันของ 5 คณะ ได้แก่ เป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาที่มีการผสานความร่วมมือจาก 5 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชานี้จะทำให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้ มุมมองที่หลากหลายและครอบคลุม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ธิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรได้รับการออกแบบให้มีแผนการเรียน 2 แผน คือ
แผน 1 แบบวิชาการ (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) มุ่งเน้นการสร้างผู้นำทางวิชาการด้านการจัดการภาษี ผู้ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบภาษี ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุคดิจิทัล
แผน 2 แบบวิชาชีพ (ศึกษารายวิชาและรายวิชาค้นคว้าอิสระ) มุ่งเน้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงเพื่อยกระดับการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
มีจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต กำหนดเปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2568 ในรูปแบบภาคนอกเวลาราชการ โดยจัดการเรียนการสอนวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานที่ให้ความยืดหยุ่นสูงสุดแก่ผู้เรียน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จุฬาฯ จับมือคลัง เปิด ป.โท การจัดการภาษี หลักสูตรแรกของไทย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net